การดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ

                  พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อให้เกิดการรวมพลังแห่งความสามัคคีของประชาชนทุกหมู่เหล่า อันนำมาซึ่งความสุขและประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการ ที่จะปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ โดยมีศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ (ศอญ.จอส.๙๐๔) เป็นหน่วยอำนวยการ วางแผน ประสานงานและกำกับดูแลการปฏิบัติทั้งปวง

                  พื้นที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์อำนวยการจิตอาสากรุงเทพมหานคร (ศอ.จอส.กทม.) เป็นแกนหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเชิญชวนประชาชนจิตอาสา จัดทำโครงการจิตอาสา“เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ”  ซึ่งกิจกรรมเน้นในเรื่องของการพัฒนาคูคลอง ปรับปรุงภูมิทัศน์ ความสะอาด และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและประชามีสุขอย่างยั่งยืน พื้นที่ในส่วนภูมิภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่ ระดับจังหวัดและนายอำเภอทุกอำเภอในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการภาคสนาม ระดับอำเภอเป็นผู้รวมพลังจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ในพื้นที่ โดยมีนายทหารราชองครักษ์หรือนายตำรวจราชองครักษ์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าจิตอาสา ดำเนินการพัฒนาตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดซ้ำซาก หรือมีปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยมีหน่วยงานราชการเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมให้จิตอาสาได้ปฏิบัติงานในการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่จัดขึ้นต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อาทิ กิจกรรมพัฒนา ที่มุ่งสู่

  • การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
  • งานชุมชนเข้มแข็งประชามีสุข
  • งานด้านการแพทย์
  • งานด้านศิลปาชีพ
  • งานด้านการจราจร
  • ฯลฯ

ขั้นตอนการจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ”

๑.การค้นหาปัญหาและกำหนดเป้าหมายการดำเนินการ 
ศอส.อำเภอ/เขต สำรวจ ค้นหาปัญหาความต้องการของพื้นที่ร่วมกับผู้นำชุมชนและประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ โดยยึดหลักการทรงงานของรัชกาลที่ ๙ “ระเบิดจากข้างใน” ให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหาของพื้นที่ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ประกอบด้วย
 
  • วิเคราะห์ปัญหา/ประเมินงานที่จะหาข้อมูล
  • ประชุม/ลงพื้นที่หาข้อมูล ข้อเท็จจริง
  • วิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหา/กำหนดการแก้ปัญหา
  • การปฏิบัติงาน
  • การประเมินผล
 
              ศอส.อำเภอ/เขตจัดประชุมหารือร่วมกันกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสา ตลอดจนตัวแทนประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เพื่อพิจารณาปัญหาสำคัญของพื้นที่และกำหนดแนวทางการแก้ไข หรือการพัฒนาพื้นที่โดยนำปัญหาที่ได้จากการประชุมมาจัดลำดับตามความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน
 
๒.การจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ของอำเภอ/เขต 
              ศอส.อำเภอ/เขต นำปัญหาที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่ประชาชนจิตอาสา สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนได้ นำมากำหนดเป็นโครงการจิตอาสา“เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ของอำเภอ โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาว โดยแบ่งมอบภารกิจ จัดเตรียมกำลังคน ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติ จัดสรรทรัพยากร กำหนดพื้นที่ที่ตั้งศูนย์อำนวยการภาคสนาม (ศอส.) ผู้บัญชาการในพื้นที่ และกำหนดศูนย์ปฏิบัติการพื้นที่ (ศปก. พื้นที่) ในแต่ละจุดให้ชัดเจน โดยให้มีการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ตามแบบที่กำหนด ซึ่งสามารถจำแนกโครงการเป็น 8 กลุ่มงาน ดังนี้
 
  • กลุ่มงานพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ประชามีสุข เช่น การขุดลอกคูคลอง การดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยของศาสนสถานหรือสถานที่สาธารณะ การจัดเก็บผักตบชวาการปลูกต้นไม้ ฯลฯ
  • กลุ่มงานประดิษฐ์และเผยแพร่งานศิลปาชีพ เช่น การอบรมให้ความรู้ด้านศิลปหัตกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
  • กลุ่มงานการแสดงและนิทรรศการ เช่น การจัดกิจกรรมการแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจ และเผยแพร่กิจกรรมของจิตอาสาฯ
  • กลุ่มงานแพทย์และสาธารณสุข เช่น กิจกรรมสนับสนุนและช่วยอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ พยาบาล รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพและการแพทย์ทางเลือก
  • กลุ่มงานทะเบียนและข้อมูล เช่น ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาลงทะเบียนจิตอาสาฯ
  • กลุ่มงานส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน เช่น สนับสนุน อำนวยความสะดวก ดูแลความเรียบร้อย จัดหาหรือบริการอาหาร น้ำดื่ม ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม/จิตอาสาที่เข้าร่วมปฏิบัติงาน
  • กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ เช่น งานประชาสัมพันธ์และให้บริการข้อมูลการจัดกิจกรรมจิตอาสาฯ รวมถึงช่วยดูแลต้อนรับประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม
  • กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยและจราจร เช่น สนับสนุนและช่วยอำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชนการแนะนำเส้นทาง การแจ้งอุบัติเหตุการจราจรให้เจ้าพนักงานทราบ
            ทั้งนี้ ให้จัดส่งแผนปฏิบัติการโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ของอำเภอ/เขต ให้ ศอญ.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมส่งให้ศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ(ศอญ.) ต่อไป
 
๓.การเสนอแผนปฏิบัติการโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” จังหวัด/กรุงเทพมหานคร
               ศอญ.จังหวัด/กรุงเทพมหานครจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการ ดังนี้
   พิจารณาแผนปฏิบัติการโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ของอำเภอ/เขต ที่โดดเด่นตามหลักเกณฑ์ดังนี้
  • มีผลกระทบหรือเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งขนาดพื้นที่และจำนวนประชาชนที่ได้รับประโยชน์ควรเป็นโครงการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีความคาบเกี่ยวหรือเชื่อมโยงกันตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก   
  • สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้อย่างกว้างขวางเพื่อเสนอให้ที่ประชุมระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานครทราบและพิจารณาคัดเลือกโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ของอำเภอ/เขต ที่มีความโดดเด่น สำหรับเป็นโครงการจิตอาสา  “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร