หลักสูตรการฝึกอบรมจิตอาสา ๙๐๔

ประวัติความเป็นมาของจิตอาสา

          ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใย และทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ ประเทศชาติ  มั่นคง เป็นปึกแผ่น มีความรัก ความสามัคคีและประชาชน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า 

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดโครงการจิตอาสาขึ้นในครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ณ โรงเรียนสุโขทัย เขตดุสิต กทม.โดยมีพระราโชบาย ให้เริ่มทำจากจุดเล็กไปใหญ่ โดยเริ่มจากการดูแลรักษาบ้านและบริเวณรอบบ้านของตนเองให้สะอาดก่อน  จึงเกิดโครงการจิตอาสา เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

การแบ่งประเภทของจิตอาสา มี ๓ ประเภท ดังนี้

           ๑. จิตอาสาพัฒนา ได้แก่  กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์  การอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ รวมทั้งการสาธารณสุข ฯลฯ

           ๒. จิตอาสาภัยพิบัติ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าตรวจ และเตรียมการรองรับภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และที่เกิดจากสาเหตุอื่น ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวม และการช่วยเหลือบรรเทาการเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติดังกล่าวเช่น อุทุกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น

           ๓. จิตอาสาเฉพาะกิจ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในงานพิธี หรือการรับเสด็จในโอกาสต่างๆ เป็นการใช้กำลังพลจิตอาสาปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน  รวมทั้งการเตรียมการ การเตรียมสถานที่ และ การฟื้นฟูสถานที่ภายหลังการปฏิบัติในพระราชพิธี และการเสด็จนั้น ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทาน ให้มีการฝึกหลักสูตรจิตอาสา 

           โดยในงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” มีประชาชนจำนวนมากได้สนใจลงทะเบียนเป็นจิตอาสาเฉพาะกิจ จำนวน  ๔ ล้านคนเศษ จึงจำเป็นจะต้องมีการคัดบุคคลเพื่อฝึกอบรมจิตอาสา  เพื่อให้เป็นผู้นำของจิตอาสาเหล่านั้นในด้านต่าง ๆ และขยายผลให้มีทักษะการปฏิบัติงาน ปลูกฝังในเรื่องความมั่นคง ในชาติ ศาสน์ กษัตริย์  ในการเข้ารับการฝึกหลักสูตรนี้ จะพิจารณาบุคคลเข้ารับการฝึกอบรม  และคัดเลือกวิทยากรให้เหมาะสม ให้มีชั่วโมงในการทำงานและมีประสบการณ์ เมื่อจบหลักสูตรจะได้บุคคลที่เป็นแนวร่วมในการช่วยพัฒนาและป้องกันประเทศ และสร้างประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน โดยแบ่งหลักสูตรเป็น ๓ ระดับ 

หลักสูตรการฝึกอบรมจิตอาสา แบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่

           ๑. หลักสูตรทั่วไป มีระยะเวลาฝึกอบรม  จำนวน ๗ วัน  

           ๒. หลักสูตรหลักประจำ มีระยะเวลาฝึกอบรม  จำนวน ๖ สัปดาห์  

           ๓. หลักสูตรพิเศษ มีระยะเวลาฝึกอบรม  จำนวน  ๓ เดือน

           ปัจจุบันได้ดำเนินการฝึกไปแล้ว คือ หลักสูตร “หลักประจำ” รุ่นที่ ๑ พระราชทานชื่อรุ่น ว่า “เป็นเบ้า เป็น แม่พิมพ์” โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ทั้ง ๔ เหล่าทัพ เข้ารับการฝึกอบรม  ในห้วงเดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทำการฝึก ณ พื้นที่กองพันฝึกส่วนหลัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์  เขตพระราชฐานในพระองค์ “วิภาวดี” ทั้งได้ทรงพระกรุณาวินิจฉัยเนื้อหาทุกวิชาของหลักสูตร และ พระราชทานพระราชทรัพย์ในการพัฒนาปรับปรุงสถานที่ฝึก และค่าใช้จ่าย พระราชทานเสื้อ เครื่องช่วยฝึก และพระราชทานอาหาร ตลอดห้วงการฝึก

วัตถุประสงค์ของการฝึก

           ๑. เพื่อเป็นวิทยากรชั้นเลิศ สามารถอบรมขยายผลให้เหล่าทัพของตนเอง และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย

           ๒. เป็นแกนนำให้กับจิตอาสาทั่วไป เพื่อทำหน้าที่จิตอาสา ๓ ประเภท    ได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงให้ข้อเสนอแนะงานด้านจิตอาสาหลายๆ ด้าน นำเทคนิคที่ได้รับการอบรมจากหลักสูตรนี้ไปช่วยเหลือประชาชนตลอดจนภัยพิบัติต่างๆ โดยเน้น ๔ ด้าน ได้แก่ ปัจจัย ๔ ,การศึกษา, การรักษาพยาบาลและอาชีพ

           ๓. ต้องทราบปัญหาภาพรวมของประเทศ และ สามารถสืบสภาพ ปัญหาในพื้นที่ ให้ข้อเสนอแนะ งานจิตอาสาในภูมิภาค   เพื่อให้ทางศูนย์อำนวยการใหญ่มาวิเคราะห์ช่วยเหลือ อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป

           ๔. เพื่อให้มีองค์ความรู้ มีวินัย และบุคลิกภาพตลอดจนทักษะช่วยเหลือประชาชน นำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติและเป็นมวลชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศชาติต่อไป

           ๕. สามารถเป็นครูฝึกจิตอาสาในรุ่นต่อไป

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

           ๑. เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีต่อชาติ ต่อสถาบัน และมีความสมัครใจ เป็นที่ยอมรับขององค์กรและมีความเสียสละ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

           ๒. เป็นบุคลที่ได้รับการตรวจสอบพฤติกรรม จากหน่วยงานของรัฐแล้วว่าไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

           ๓. เป็นผู้ที่ได้รับการอนุมัติให้เข้ารับการศึกษาตามสายการบังคับบัญชา หรือจากผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร และผู้ที่ศึกษาหลักสูตรให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานของทางราชการ โดยหน่วยงานต้นสังกัดสามารถจัดหาบุคคลอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้

           ๔. เป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และสามารถเข้ารับการศึกษาได้ตลอดหลักสูตร ไม่มีโรคประจำตัวหรืออยู่ในระหว่างภาวะตั้งครรภ์

           ๕. เป็นผู้ที่หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาแล้วว่าเป็นบุคคลชั้นดีเลิศ และมีความสามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

           หลักสูตรหลักประจำ เน้นการฝึกอบรมแบบ มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการศึกษาเป็นคณะเน้นฝึกการปฏิบัติ ฟังบรรยายจากผู้มีประสบการณ์ จากหน่วยงานและ วิทยากรที่มีความสามารถ โดยมีระยะเวลาการฝึกอบรมจำนวน ๖ สัปดาห์ แบ่งเป็น ๖ หมวดวิชา  รวมทั้งสิ้น จำนวน  ๔๖๒  ชั่วโมง ดังนี้ (ตามภาคผนวก ๔ แถลงหลักสูตรจิตอาสา)

           ๑. หมวดวิชาที่ ๑ วิชาทหารทั่วไป  จำนวน ๒๗ ชั่วโมง  เน้นการฝึกให้ร่างกายแข็งแรง รู้คำสั่งภารกิจ  รู้หน้าที่  รู้วินัยทหารทั่วไป รู้จักระเบียบวินัย  มีความคิดที่เป็นระบบ  

           ๒. หมวดวิชาที่ ๒ วิชาการอบรมความรู้ (อุดมการณ์/สถาบันพระมหากษัตริย์) จำนวน ๘๕ ชั่วโมง เพื่อให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ทุกพระองค์ ตั้งแต่อดีต จนถึง ปัจจุบัน พระองค์ทรงแบกรับพระราชภาระกิจที่ยิ่งใหญ่ ในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับบ้านเมือง ในการเผชิญกับภัยคุกคาม ตั้งแต่อดีตเช่น การล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก  การแพร่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในยุคสงครามเย็น ร่วมถึงปัญหาความยากจน ของ พสกนิกรทั่วทั้งประเทศ 

           ๓. หมวดวิชาที่ ๓ วิชาการอบรมความรู้ (ด้านจิตอาสา) จำนวน ๘๐ ชั่วโมง  เพื่อให้ผู้รับการฝึกอบรม ได้มีแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง  มีมาตรฐาน  เพื่อพัฒนาบุคคลากร ให้มีขีดความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในกลุ่มงานจิตอาสาทั้ง ๓ ประเภท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

           ๔. หมวดวิชาที่ ๔ วิชาชีพ (เลือก)  ๑  วิชา จำนวน ๓๐ ชั่วโมง  เป็นวิชาชีพที่ให้ผู้เข้ารับการฝึกเลือกคนละ ๑ วิชา เพื่อให้มีความรู้ไปช่วยเหลือกิจกรรมจิตอาสาด้านต่างๆ  ผู้รับการฝึกจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองขีดความสามารถ ประกอบด้วยทางด้านวิชาช่าง

  • ช่างไฟฟ้า
  • ช่างเดินสายไฟ 
  • ช่างไม้
  • ช่างประปา
  • ช่างปูน
  • ช่างสี
  • ช่างเครื่องยนต์ขนาดเล็ก(เน้นเครื่องมือการเกษตร) โดยมีวิทยากรจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ๑ จ.สมุทรปราการ เป็นผู้สอน
  • แกะสลักผัก และผลไม้สด
  • การจัดดอกไม้สด และการร้อยมาลัย
  • การปักพุ่ม โดยมีวิทยากรจากโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิงเป็นอาจารย์ในการสอน
  • การทำอาหารไทย
  • การทำขนมไทย อาหารว่างที่มีประโยชน์  (เช่น วิชาทำขนมครก)
  • ศาสตร์ในการถนอมอาหาร การแปรรูปอาหาร (ใช้รถครัวสนามเคลื่อนที่)

           โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร   และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จว.นนทบุรี เป็นผู้สอน

           ๕. หมวดวิชาที่ ๕ วิชาศาสตร์พระราชา  จำนวน ๙๐ ชั่วโมง คิด โดยให้มีความเข้าใจว่า ศาสตร์พระราชา คือ ๔ ข้อ ได้แก่ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เข้าใจหลักการขั้นตอนของการทรงงาน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนของพระองค์ ผู้รับการฝึกจะได้รับการฝึกอบรม เพื่อศึกษาองค์ความรู้ของพระราชา  ต้องรู้ว่าศาสตร์พระราชาคืออะไร  ที่ทรงช่วยเหลือปวงชนชาวไทย เป็นการวางแนวทาง   แนวคิดทฤษฎี เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา และ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มที่การเข้าใจก่อน   เข้าใจปัญหา  เข้าใจสถานการณ์  เข้าใจภารกิจ  รวมทั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่นำหลักศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ 

           ๖. หมวดวิชาที่ ๖ การฝึกปฏิบัติและการศึกษาดูงานพื้นที่จริง จำนวน ๑๕๐ ชั่วโมง  เป็นหมวดวิชาที่มุ่งเน้นให้ทราบถึงปัญหาของประชาชนและเกษตรกร ว่าคืออะไร จะแก้อย่างไร และที่สำคัญจะต้องนำภาคทฤษฎีมาปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ผู้รับการฝึกได้เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และนำลงสู่การปฏิบัติโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนามนุษย์ และรับทราบประเด็นปลีกย่อยเพิ่มเติม ในการปฏิบัติ รวมถึงประเด็นปัญหาของผู้ที่เคยปฏิบัติ ก่อให้เกิดความคิดในการต่อยอดจากเดิม ผู้รับการฝึกจะได้ศึกษาดูงาน โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา, พระบรมมหาราชวัง , หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านอ่างตะแบก จ. ฉะเชิงเทรา , โครงการชั่งหัวมันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 

           พระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระราชทาน    ซึ่งในระหว่างการฝึกอบรม ผู้รับการฝึกจะได้รับ    พระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน  เครื่องแบบจิตอาสา ประกอบด้วย เสื้อจิตอาสา, หมวกสีฟ้า, ผ้าพันคอสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของ จิตอาสา ๙๐๔ และ เอกสารตำราประกอบการฝึกอบรม ให้กับผู้รับการฝึก อีกทั้ง พระราชทานเลี้ยงอาหารประจำวัน  และอาหารว่าง ให้กับผู้รับการฝึกในแต่ละวัน พระราชทานเลี้ยงอาหารพิเศษ ในวันสำคัญ และวันเยี่ยมญาติ ซึ่งได้พระราชทานเลี้ยงให้กับญาติของผู้รับการฝึกด้วย และหากผู้รับการฝึกเจ็บป่วย ในระหว่างรับการฝึก ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแจกันดอกไม้และของเยี่ยมให้แก่ผู้ป่วย โดยในรุ่นที่ ๑ /๖๑ ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ เป็นผู้แทนพระองค์ ไปเป็นประธานในพิธีปิดหลักสูตร และมอบประกาศนียบัตร พร้อมกับเครื่องหมายหลักสูตรจิตอาสา ๙๐๔ ให้กับผู้สำเร็จการอบรม 

ความหมายของเครื่องหมาย จิตอาสา มีองค์ประกอบและความหมายดังนี้

           พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบารมี และพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันแผ่ไพศาล 

           พระปรมาภิไธย ย่อ ว.ป.ร. หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

           ดาวเบื้องซ้าย หมายถึง ข้าราชการ 

           ดาวเบื้องขวา หมายถึง ประชาชน

           เป็นสีเดียวกัน หมายถึง ไม่แบ่งแยก

           รวมความหมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการ และประชาชน ไม่เคยแยกจากกัน

           ปีก  หมายถึงพระบารมีที่ทรงโอบอุ้ม และนำมาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งประเทศชาติไปพร้อมกัน 

           ผ้าแพร ประดับด้วยคำขวัญพระราชทาน“เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”หมายถึง ทรงพระราชทาน ทานพระราชปณิธาน และความมุ่งมั่นที่จะทำความดีของทุกคน

           ภายหลังจากสำเร็จการฝึกอบรม ผู้รับการฝึกจะพบกับความเปลี่ยนแปลงในตนเอง จะเข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้งของคำว่า จิตอาสาตามพระราชปณิธาน เป็นจิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจ สมัครใจช่วยเหลือผู้อื่น ยอมเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และสติปัญญา ในการทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเยือกเย็น และพลังแห่งความดี อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัวตนของตนเองลงได้ 

           ซึ่งผู้รับการฝึกจะนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปขยายผล ต่อยอด ปฏิบัติงานเป็นวิทยากรจิตอาสา ในการบรรยายความรู้ให้กับข้าราชการในสังกัดของวิทยากร ให้กับประชาชนในพื้นที่รอบหน่วยงาน ชุมชนต่างๆ และเป็นแกนนำให้กับจิตอาสาทั่วไป เพื่อสนองตอบพระราโชบายและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใย ทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ ประเทศชาติมั่นคง เป็นปึกแผ่น  และประชาชนของพระองค์มีความรัก ความสามัคคี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และด้วยพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ  จากพระราชบิดา ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน  และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ความเป็นมาของจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ 904 ร่วมกันจัดโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราช ดำริเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความ สมัครสมานสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยราชการในพระองค์ 904 เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานร่วมกับ หน่วยงาน ภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการและประสานการ ปฏิบัติเพื่อให้การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เป็นไปอย่างต่อเนื่องถูกต้องตามพระราโชบาย และสมพระเกียรติ

          ในระยะเริ่มแรก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปณิธานในการบำเพ็ญประโยชน์พื้นที่ชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิตเป็นการทำความ ดีด้วยหัวใจถวายเป็น พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรโดยหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์หน่วยทหารรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ฯร่วมกับประชาชนจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ร่วมกันดูแลและพัฒนารักษาพื้นที่จากชุมชนเล็กๆ รอบพระราชวังดุสิตขยาย สู่พื้นที่โดยรวมของประเทศในการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

ความหมายของ “จิตอาสา” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ “จิตอาสา” ดังนี้

          “จิต” เป็นคำนาม หมายถึง ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิด และนึก

          “อาสา” เป็นคำกริยาหมายถึง เสนอตัวเข้ารับทำ

          ดังนั้น “จิตอาสา” จึงหมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจสมัครใจอิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย แรงสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ในการทำกิจกรรมหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดู ดายเมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนแปลงเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเยือกเย็น และพลังแห่งความดีอีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัวตนของตนเองลงได้

ความหมายของ จิตอาสา “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในและต่างประเทศที่สมัครใจช่วยเหลือผู้อื่นยอมเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และสติปัญญาใน การทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ

จิตอาสาตามพระราโชบาย แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 

1 จิตอาสาพัฒนา : ได้แก่กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญ สาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวันการประกอบอาชีพ รวมทั้งการ สาธารณสุข ฯลฯ แบ่งตามภารกิจงานเป็น 8 กลุ่มงาน ดังนี้

          จิตอาสาพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ประชามีสุข หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อาทิ การขุดลอกคูคลอง การดูแลรักษา ความสะอาดเรียบร้อยของศาสนสถานหรือสถานที่สาธารณะ การจัดเก็บผักตบชวา การปลูกต้นไม้ รวมทั้งการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่สร้างความเป็นอยู่ของ ชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

          จิตอาสางานประดิษฐ์และเผยแพร่งานศิลปาชีพ หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่นำความรู้ทางด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน/ภูมิ ปัญญาท้องถิ่น มาเผย แพร่ และถ่ายทอดเพื่อให้ประชาชนนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อไป

          จิตอาสาฝ่ายกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการ หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ปฏิบัติงานสนับสนุนในการจัดงานหรือกิจกรรมการแสดงและมีนิทรรศการ เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและเผยแพร่กิจกรรมจิตอาสาฯ เช่น กิจกรรมการแสดงดนตรีบริเวณพระลานพระราชวังดุสิต การจัดงานอุ่นไอ รัก คลายความหนาว งานเถลิงศกสุขสันต์มหาสงกรานต์ตำนานไทย เป็นต้น

          จิตอาสาฝ่ายแพทย์และสาธารณสุข หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ปฏิบัติงานสนับสนุนและช่วยอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ พยาบาล รวมถึงช่วยอำนวย ความสะดวกด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ

          จิตอาสาฝ่ายทะเบียนและข้อมูล หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาลงทะเบียนจิตอาสาฯ

          จิตอาสาฝ่ายส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่สนับสนุน อำนวยความสะดวก ดูแลความเรียบร้อย จัดหาหรือบริการอาหาร น้ำดื่ม ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม/จิตอาสาที่เข้าร่วมปฏิบัติงาน

          จิตอาสาฝ่ายประชาสัมพันธ์ หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ช่วยงานประชาสัมพันธ์และให้บริการข้อมูลการจัดกิจกรรมจิตอาสาฯรวมถึงช่วยดูแลต้อนรับ ประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม

          จิตอาสาฝ่ายรักษาความปลอดภัยและจราจร หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่สนับสนุนและช่วยอำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชนการแนะนำ เส้นทางการแจ้งอุบัติเหตุการจราจรให้เจ้าพนักงานทราบ