พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

       พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นพระราชฐานต่างจังหวัดของสำนักพระราชวัง ตั้งอยู่ที่ ม.๔ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ติดกับริมทะเลฝั่งตะวันออกบริเวณลาดหน้าเนินทางด้านทิศตะวันออกของเขาตันหยง ยอดเขาที่สูงที่สุดมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๓๐๐ เมตร พระตำหนักองค์ใหญ่ตั้งอยู่บนเชิงเขา ส่วนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๕๐ เมตร ถ้าจะเรียกว่าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ตั้งอยู่ริมทะเลหรือตั้งอยู่บนเชิงเขาก็ถูกต้องเป็นหน่วยงานของสำนักพระราชวังเดิมพื้นที่ในเขตพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเขาตันหยง มีชาวไทยอิสลามซึ่งเป็นคนพื้นเมืองอาศัยอยู่ในปี ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงสำรวจพื้นที่โดยทั่วไปของเขาตันหยงด้วยพระองค์เองและมีพระราชดำริว่าจะสร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเขาตันหยง ราษฎรบ้านเขาตันหยงซึ่งเป็นชาวไทยอิสลาม ได้พร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบ้านเขาตันหยงโดยการขายให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคาร ที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในเขตพระราชฐานราษฎรบ้านเขาตันหยงได้สร้างหมู่บ้านขึ้นใหม่ทางทิศใต้ติดกับเขตพระราชฐานและอยู่มาจนถึงปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

       พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ได้เข้าดำเนินการก่อสร้างพระตำหนักองค์แรก ในปี ๒๕๑๖ (พระตำหนักสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรในปัจจุบัน ) ได้ละเว้นพื้นที่ที่เป็นสุสานของหมู่บ้านเดิมไว้โดยมิได้นำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใดเพื่อให้เป็นสถานที่สำคัญสำหรับให้ราษฎรบ้านเขาตันหยงได้เข้ามาประกอบศาสนกิจแผ่ส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษเป็นประจำทุกปีรับสั่งให้ปลูกเฟื่องฟ้าต่างชนิดต่างสีเต็มทั้งบริเวณสุสานและพระราชทานชื่อว่า “สุสานเฟื่องฟ้า” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นครั้งแรกเมื่อ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรมประมาณเดือนกันยายนเกือบทุกปี

       หลังจากที่ได้ก่อสร้างพระตำหนักองค์แรกในปี ๒๕๑๖ แล้วต่อมาในปี ๒๕๑๘ ได้เริ่มก่อสร้างศาลาบุหลัน ซึ่งเป็นอาคารสำคัญสำหรับทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในปัจจุบัน ในปี ๒๕๑๙ กองบัญชาการทหารสูงสุดโดย ศรภ. มอบให้บริษัทสยามคอมเมอร์เชี่ยล คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด สำรวจและดำเนินการก่อสร้างแนวรั้วลวดถักและเขื่อนกันคลื่น ซึ่งเป็นเขื่อนเรียงหินยาแนวตามแนวริมฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกของเขตพร ะราชฐานชั้นกลาง ทั้งแนวรั้วลวดถักและเขื่อนกันคลื่นแล้วเสร็จ ในปี ๒๕๒๒ ในปี ๒๕๒๔ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔ โดยประทับในพระตำหนักที่ก่อสร้างเป็นองค์แรก โปรดให้สร้างสนามเปตอง ในพื้นที่ทางทิศเหนือของศาลาบุหลัน เพื่อทรงเปตองกับข้าราชบริพาร พื้นที่ที่สร้างสนามเปตองนี้เอง ที่เป็นสถานที่สร้างพระตำหนักองค์ใหญ่ในปัจจุบันและหลังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ กลับใน ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ได้เริ่มทำการก่อสร้างพระตำหนักองค์ใหญ่ ในปี ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ งดการเสด็จ ฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรมเพราะพระตำหนักองค์ใหญ่ยังไม่แล้วเสร็จ ปี ๒๕๒๖ การก่อสร้างพระตำหนักองค์ใหญ่เสร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักองค์ใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๖ และเสด็จฯ กลับใน ๓ ตุลาคม ๒๕๒๖ เขตพระราชฐาน

       พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ แบ่งออกเป็น ๓ เขตพระราชฐาน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นใน มีพื้นที่รวมกันประมาณ ๒๓๒ ไร่ และจะต้องดูแลรักษาป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า การยิงและจับสัตว์บนเขาตันหยง มีพื้นที่ประมาณ ๒,๖๘๗ ไร่ ซึ่งถือเป็นเขตพระราชฐานอีกส่วนหนึ่งด้วย บนเขาตันหยงมีสำนักสงฆ์ของพระตำหนักสำหรับเป็นที่พักของพระราชาคณะหรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงนิมนต์มาปฏิบัติธรรมอย่างเป็นสัดส่วนโดยสร้างอยู่บนเขาทางทิศตะวันตกของพระตำหนักอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๖๐ เมตร ลักษณะภูมิประเทศ

       ภูมิประเทศและสภาพอากาศโดยทั่วไป เขาตันหยงเป็นป่าที่สมบูรณ์เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ มีสัตว์ขนาดใหญ่อาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมี กวางป่า อีเห็น ชะมด ไก่ป่า ลิง ค่าง และสัตว์เล็กๆ อีกเป็นจำนวนมาก ในฤดูฝนจะมีน้ำตกหลายแห่งแต่มีน้ำไม่ตลอดปี ฤดูฝนจะเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม และจะมีฝนตกหนักประมาณ เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนเมษายน ในช่วงที่มีมรสุมในทะเลจะมีคลื่นลมแรง มีคลื่นขนาดใหญ่ ละอองน้ำเค็มจะปกคลุมไปทั่วทั้งเขตพระราชฐาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อต้นไม้เป็นอย่างยิ่ง ในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนจัดแต่ไม่มีฤดูหนาว อากาศโดยทั่วไปเย็นสบายลักษณะภูมิทัศน์และภูมิสถาปัตย์

       ภูมิทัศน์และภูมิสถาปัตย์ พระราชฐานต่างจังหวัดแต่ละพระราชฐานจะมีแบบการจัดสวนใน ราชอุทยานแตกต่างกันไป สำหรับราชอุทยานในเขตพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จะจัดสวนแบบ สวนหิน ( Rock Garden ) ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทไม้ใบ สาเหตุเนื่องจากอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ มีแสงแดดไม่เพียงพอที่จะปลูกไม้ดอกให้เจริญงอกงามได้ ต้นไม้พื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้แก่ ปาล์มบังสูรย์ รักนา และดาหลา บริเวณราชอุทยานในเขตพระราชฐานชั้นใน มีคอกขยายพันธุ์สัตว์ที่หายากและมีกรงเลี้ยงนก ส่วนใหญ่จะเป็นนกที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ ขณะนี้มีพระราชดำริให้ขยายพันธุ์นกกางเขนดง กระจง และไก่ป่า ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองที่หายาก เพื่อให้มีจำนวนมากพอที่จะปล่อยเข้าป่าอีกต่อไปหน่วยงานในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

       หน่วยงานที่ดูแลรักษาพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ การดำเนินการก่อสร้างพระตำหนักฯ อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรับผิดชอบดูแลรักษาพระราชฐานมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ จนกระทั่งปี ๒๕๒๕ จึงได้มอบโอนความรับผิดชอบให้กับสำนักพระราชวัง การดูแลรักษาโดยการจ้างลูกจ้างชั่วคราวรับเงินท้ายที่นั่งเข้ามาจำนวนหนึ่ง ยังไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ ต่อมาสำนักพระราชวัง ได้จัดตั้งหมวดพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ขึ้นมาเป็นหน่วยงานของรัฐ รับผิดชอบดูแลรักษาพระราชฐาน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อ ๑ มีนาคม ๒๕๓๑ และได้ปรับอัตรากำลังจากหมวดเป็นงาน เมื่อ 
๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ปัจจุบันการจัดหน่วยงานของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายอำนวยการ และ ฝ่ายสถานที่และระบบ ทั้ง ๒ ฝ่ายยังแบ่งย่อยลงไปเป็นหน่วยระดับงานอีก จำนวน ๖ งาน คือ งานธุรการ-การเงิน , งานคลังพัสดุ , งานยานพาหนะ , งานชาวที่ , งานระบบและสาธารณูปโภค และ งานสวน โดยมีผู้อำนวยการพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นผู้บังคับบัญชา