พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2564
พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

     พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๑๓-๒๔๑๘ เป็นเวลา ๕ ปี สร้างอยู่ทางใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระเฉลียงด้านหน้าต่อเนื่องกับท้องพระโรงหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีบันไดขึ้นสู่พระเฉลียงด้านหน้า เป็นพระที่นั่ง ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นที่สำหรับข้าทูลละอองพระบาท มิได้ใช้เป็นที่ประทับ ส่วนชั้นบนซึ่งใช้เป็นที่ประทับนั้น มีห้อง ๓ ห้อง คือ
     ห้องกลางเป็นห้องใหญ่ เรียกกันว่า “ห้องเหลือง” เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ยังไม่แล้วเสร็จได้ทรงใช้ห้องนี้เป็นที่รับรองแขกผู้มีเกียรติ มีหลักฐานปรากฏว่าเมื่อดยุ๊คออฟเยนัว พระอนุชาธิราชของสมเด็จพระบรมราชินีแห่งอิตาลี คิงคาละคาลัว ประมุขแห่งเกาะฮาวาย สมัยเมื่อยังมิได้ขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยนายวิลเลี่ยม อาร์มสตรอง นายกรัฐมนตรี มาเยี่ยมประเทศไทยเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๒๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ที่ห้องนี้

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหราฬ ในรัชกาลปัจจุบันพระที่นั่งองค์กลาง คือ พระที่นั่งเทวารัณยสถาน

     ห้องด้านตะวันออก เรียกกันว่า “ห้องน้ำเงิน” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชสิราภรณ์ พระมาลา เครื่องราชูปโภค พระแสง และสิ่งของมีค่าอื่น ๆ มาตั้งแต่งไว้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอัครมเหสี เสด็จออกรับแขกเมืองผู้มีเกียรติที่ห้องนี้ ห้องด้านตะวันตก เรียกกันภายในว่า “ห้องเขียว” เป็นห้องทรงพระสำราญพระที่นั่งอมรพิมานมณี สร้างต่อจากพระเฉลียงด้านหลังพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
     พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในปัจจุบันนี้ สร้างเต็มพื้นที่ที่เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นท้องพระโรงกว้างใหญ่มาก ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แก่พระประมุข และพระราชวงศ์ต่างประเทศ ๒๖ ประเทศ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารแห่งนี้

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

งานพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะเนื่องในวโรกาส
พระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙
ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

     พระที่นั่งที่ต่อเติมส่วนที่ ๒ พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งเทวารัณยสถาน” พระที่นั่งองค์นี้ สร้างเป็นพลับพลาเครื่องไม้ หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีลานและบันไดลงสู่พื้นล่าง เพื่อเป็นพลับพลาประกอบพระราชพิธีสังเวยบวงสรวง

     สถานที่ที่กล่าวนามมาทั้งหมดนี้ เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับส่วนพระองค์ ส่วนทางด้านใต้ ซึ่งเป็นห้องพระบรรทม ออกไปเป็นสวนสวรรค์ ซึ่งเป็นสวนที่งดงามมาก มีภูเขาและน้ำตก ประกอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชาติส่งกลิ่นหอม ดังจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร ก่อนที่จะขึ้นเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนก จะทรงประทับพักผ่อนที่สวนสวรรค์นี้ เป็นเวลานาน ๆ

     จากสวนสวรรค์ ไปทางด้านทิศใต้ มีสะพานเลือกเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระตำหนักสมเด็จ พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครมเหสี

     สมัยก่อนการติดต่อระหว่างเขตพระราชฐานชั้นในกับภายนอก จะใช้ประตูเข้าออกทางด้านตะวันตก ๒ ประตู คือประตูอนงคลิ้นลา (ปัจจุบันเรียกกันว่าประตูอนงคลีลา) และประตูยาตรากษัตรี มาสู่ท่าขุนนางติดกับท่าราชวรดิฐซึ่งเป็นท่าเทียบเรือ จะมีเรือสินค้าจากต่างประเทศ เช่น เรือสิงคโปร์ เข้าสู่กรุงเทพ บรรทุกผ้าแพรพรรณ เครื่องแต่งกาย มาขายเจ้านายฝ่ายใน ก่อนที่จะนำไปค้าขาย ที่ท้องตลาดสำเพ็ง

     ประตูอนงคลิ้นลาหรือประตูอนงคลีลา มีมูลดินกองใหญ่อยู่หน้าประตู เมื่อเปิดประตู จะมีโขลนออกนั่งว่าราชการ โขลนนี้คือพนักงานฝ่ายใน มีราชทินนามว่า “ท้าวศรีสัจจา” ชื่อเดิมว่า “มิ” เป็นผู้ที่ เคร่งในกฎระเบียบของชาววังมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงยกย่องมาก ถึงกับทำรูปจำหลักไว้ที่ใต้พระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมาน ที่ผนังด้านใต้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีโคลงพระราชนิพนธ์ไว้ด้วย ในปัจจุบันโคลงพระราชนิพนธ์ลบเลือนไปแล้ว เล่ากันว่าเมื่อประตูนี้เปิด จะมีหนุ่มรุ่นกระทงมาดักพบสตรีชาววัง เพื่อเกี้ยวพาราสีเป็นประจำ จึงมีคำสำนวนว่า “เจ้าชู้ประตูดิน” ปัจจุบันนี้ประตูอนงคลีลา หรือ ประตูดิน ก็ยังคงเปิดใช้ในทางราชการ แต่สาวสรรกำนัลในที่เข้าออกประตูนี้ อายุเลยแซยิดไปแล้ว คำสำนวนว่า “เจ้าชู้ประตูดิน” จึงเป็นอันว่าหมดไป

ส่วนประตูยาตรากษัตรี เป็นประตูที่เจ้านายฝ่ายใน เสด็จออก เสด็จเข้า

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

ประตูอนงคลิ้นลา (อนงคลีลา) 

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

ประตูยาตรากษัตรี