ประเพณีวัง

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2564

      พระราชวังเป็นพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เช่น พระบรมมหาราชวัง พระราชวังดุสิต ในพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เป็นต้น พระมหากษัตริย์ประทับแรมที่แห่งใด ที่นั้น เป็นที่ตั้งแห่งพระราชสำนัก มีเจ้าหน้าที่ประจำดูแลรักษากับมีการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณี

      ระเบียบแบบแผนประเพณีที่ใช้ในพระบรมมหาราชวัง เป็นระเบียบแบบแผนที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องต่อ ๆ กันมาเป็นเวลาช้านาน บางเวลาก็เปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อให้ต้องด้วยกาลและพระราชนิยม ระเบียบแบบแผนและประเพณีที่กล่าวนี้ สามัญชนเรียกว่า “ประเพณีวัง”

      ประเพณีวังนั้น พระราชวังแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ฝ่ายหน้านั้น ตามปกติหญิงชายเข้าออกได้ตามควรแก่สิทธิของตน แต่ฝ่ายในเป็นที่รโหฐาน คือเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ของพระมหากษัตริย์ ชายอื่นจะเข้าไปไม่ได้ เว้นแต่เด็กชายกับชายที่มีเจ้าหน้าที่มณเฑียรบาลควบคุมเข้าไป แม้เช่นนั้นก็เข้าไปได้เพียงที่ที่ทางการกำหนดให้ตามกิจธุระที่พึงมีเท่านั้น

      ในพระราชวังชั้นใน ผู้ชายจะอยู่หรือเดินคนเดียวมิได้ ถ้ามีกิจธุระต้องอยู่หรือไปไหนภายในพระราชวัง ต้องปฏิบัติการตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป หมายความว่าต้องมีการควบคุม และมีผู้รู้เห็นเป็นพยาน ความเคลื่อนไหวของตนตลอดเวลา

ประเพณีวัง

พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเพณีวัง

โคมไฟหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ประเพณีวัง

โคมไฟภายในพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์

     ในรัชกาลที่ ๕ การเดินในพระราชวังชั้นในในเวลาค่ำคืน ผู้เดินต้องถือโคมไฟหรือเทียนให้มี แสงสว่างไปด้วย แต่ประเพณีนี้บัดนี้ไม่ได้ใช้แล้ว เนื่องจากมีแสงไฟฟ้าใช้แล้ว
     ชายใดที่มีกิจเป็นกรณีที่จะต้องค้างในพระราชวังชั้นใน เช่น หมอ หรือผู้กำกับหมอ ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้นอนค้างได้แล้วก็ปฏิบัติได้ แต่ชายผู้นอนค้างในพระราชวังจะใช้มุ้งกางนอนหาได้ไม่ แต่ในปัจจุบันนี้ไม่เข้มงวดถึงปานนั้น และชายผู้ใดถ้าเข้าพระราชวังชั้นในทางประตูใด เวลาออกก็ต้องออกประตูนั้น เว้นแต่ทางการจะมีกำหนดเป็นอย่างอื่นจึงปฏิบัติตามนั้นได้

     พระราชวังปกครองโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมักจะโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระราชินี หรือพระบรมราชวงศ์ฝ่ายในทรงดูแลบังคับบัญชากิจการฝ่ายในต่างพระเนตรพระกรรณ เช่น มีหน้าที่ปกครองผู้มีสำนักอาศัยอยู่ในพระราชวังชั้นใน รักษากุญแจประตูและพระทวารพระที่นั่ง กุญแจประตูพระราชวังชั้นใน

     นอกจากพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในแล้ว สามัญชนจะเสียชีวิตในพระบรมมหาราชวังชั้นในไม่ได้ ถ้าสามัญชนเสียชีวิตในพระราชวังชั้นใน ต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิง ณ ที่เกิดเหตุ ส่วนการเกิดนั้น ในพระราชวังชั้นในมิได้จำเพาะแต่พระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ถ้าสามัญชนคลอดลูกในพระราชวังชั้นใน จะต้องทำพิธีกลบบัตร ณ ที่นั้นด้วย เพราะถือว่าโลหิตตกในพระราชวัง นอกจากนั้นจะต้องทำการสมโภชและมีละครฉลองประตูพระราชวังชั้นในทั้ง ๔ ทิศ นี่เป็นมูลเหตุที่ห้ามมิให้หญิงตั้งครรภ์เข้าพระบรมมหาราชวังชั้นใน

ประเพณีวัง

ประตูสนามราชกิจ

ประเพณีวัง

วิธีก้าวย่างข้ามธรณีประตู

ประเพณีวัง

กลอนประตูสมัยโบราณ

     ประตูพระราชวังชั้นในซึ่งเป็นประตูที่ใช้การนั้น เปิดระหว่างกลางวันและปิดระหว่างกลางคืน ส่วนประตูที่ไม่ได้ใช้ก็ปิดอยู่เสมอ และจะเปิดเมื่อมีราชการที่จะต้องใช้ประตูนั้น ประตูที่เปิดมาสู่ด้านหน้าพระราชวังอันเป็นประตูที่ผู้มีเกียรติใช้เป็นทางเข้าออกนั้น เปิดเวลา ๐๖.๐๐ น. และปิดเวลา ๒๒.๐๐ น. ประตูที่เปิดไปสู่ด้านหลังพระราชวังอันเป็นประตูสำหรับข้าหลวง ใช้เป็นทางเข้าออกโดยมากนั้น เปิดเวลา ๐๖.๐๐ น. และปิดเวลา ๑๗.๐๐ น. เวลาปิดเปิดดังกล่าวตามปฏิบัติการอันเป็นสามัญ แต่ถ้าเป็นราชการวิสามัญเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่มณเฑียรบาลก็ปิดเปิดหรือเปลี่ยนกำหนดเวลาโดยสมควรแก่การณ์ได้

     ประตูพระราชวังชั้นในเมื่อปิดแล้ว เจ้าหน้าที่มณเฑียรบาลฝ่ายหน้าต้องลงกุญแจกับประทับตราของเจ้าหน้าที่มณเฑียรบาลฝ่ายหน้าด้านนอก และเจ้าหน้าที่ฝ่ายในต้องลงกุญแจกับประทับตรา ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายในด้านในและการเปิดประตูก็ต้องมีการไขกุญแจกับตรวจตราเช่นเดียวกัน

     กุญแจพระราชวังชั้นในนั้น เดิมพระบรมราชวงศ์ฝ่ายในทรงมีหน้าที่เก็บรักษา ต่อมาเจ้าหน้าที่ ฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้เก็บรักษา

     พระราชวังนั้นเมื่อถึงเวลาค่ำคืน ประตูทั้งหลายปิดหมด บางเวลาย่อมมีราชการเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีประตูใดประตูหนึ่งซึ่งเตรียมไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายในและฝ่ายหน้าทำการติดต่อกันได้ สำหรับพระบรมมหาราชวังมีประตูสนามราชกิจเป็นประตูสำหรับใช้การในเรื่องนี้ ประตูนี้เดิมเรียกกันเป็นสามัญว่า “ประตูยามค่ำ” พระมหากษัตริย์และพระบรมราชินี เมื่อเสด็จสวรรคตหาพระองค์ไม่แล้ว จะเชิญ พระบรมศพออกทางประตูสนามราชกิจ แห่ไปประดิษฐานในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนพระบรมวงศ์พระองค์อื่นนั้น ถ้าสิ้นพระชนม์แล้วไว้พระศพในพระบรมมหาราชวัง จะเชิญพระศพออกไปทาง ประตูพรหมศรีสวัสดิ์ ถ้าไว้พระศพนอกพระบรมมหาราชวัง จะเชิญพระศพออกทางประตูวิจิตรบรรจง ศพอื่น ๆ นอกจากที่ว่านี้ออกทางประตูอรงคารักษ์

     มีประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายในถือเคร่งครัดนัก คือประตูพระราชวัง ชั้นในนั้นมี บานใหญ่ ๒ บาน และในบานใหญ่นั้นมีประตูเล็กเปิดปิดได้อยู่อีกบานหนึ่ง โดยปิดประตูบานใหญ่ไว้เสมอ และเปิดจำเพาะบานเล็กสำหรับให้เป็นทางเข้าออก ประตูบานเล็กนี้โดยเหตุที่ทำอยู่ในประตูบานใหญ่จึงมีธรณีประตู และธรณีประตูนี้ผู้ใดเข้าออกก็เดินข้ามผ่านเข้าไปได้ แต่จะเหยียบบนธรณีประตูไม่ได้ ถ้าผู้ใด ไม่ทราบหรือพลั้งเผลอเหยียบเข้า จะถูกโขลนหรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษาประตูดุ บางทีจะถูกสั่งให้กราบธรณีประตูเพื่อเป็นการขอขมาโทษ เพราะประตูวังนี้เป็นที่นับถือของโขลน มีการสมโภชกันทุกปี

    ในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ทรงตั้งกรมโขลนขึ้น สำหรับการปฏิบัติราชการฝ่ายในพระราชวัง กรมโขลนนี้มีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการเป็นผู้หญิงล้วน และมีที่ทำการอยู่ที่ชั้นต่ำของพระที่นั่งนิพันธพงศ์ถาวรวิจิตร เรียกที่ทำการนี้ว่า “ศาลาว่าการกรมโขลน” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “ศาลา” กรมโขลนมีหน้าที่ราชการคล้ายตำรวจนครบาล คือรักษาความสงบ ปกติมีกองรักษาการณ์ตั้งอยู่ที่ศาลาและมียามประจำตรงสี่แยก หรือตามที่สำคัญ เช่น ประตูวัง

     ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน เดิมมีที่คุมขังอยู่ ๒ แห่ง หญิงใดที่มีความผิดต้องคำพิพากษาตัดสินของศาลรับสั่งกระทรวงวัง หรือมีพระบรมราชโองการ หรือมีพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระบรมราชินี สั่งลงโทษให้ขังหรือจำขัง ถ้าโทษเบาให้จำขังที่ศาลาว่าการกรมโขลน ถ้าโทษหนักก็ต้องจำขังที่คุมขังฝ่ายใน การจำขังที่ศาลาว่าการกรมโขลนนั้น ถ้าผู้รับอาญาเป็นเชื้อพระวงศ์ เครื่องสังขลิกที่ใช้ต้องหุ้มด้วยผ้าขาว

 

ประเพณีวัง

พระรามัญนิกายเทน้ำพระปริตร

ประเพณีวัง
ประเพณีวัง

พระรามัญนิกายประพรมน้ำพระปริตรรอบพระมหามณเฑียร โดยมีเจ้าหน้ามณเฑียรบาล (ตำรวจวัง) ถือบาตรน้ำพระปริตร

     ประเพณีวังอีกอย่างหนึ่ง เรียกกันว่า เรียกกันว่า “พระนำมนต์หรือพระรามัญนิกาย” คือทุก ๆ วัน ในเวลา ๑๔.๐๐ น. จะมีพระภิกษุ ๒ รูป (ในภาพ) เป็นพระครูพระปริตรมอญผู้มีสำนักอยู่ที่วัดชนะสงคราม (ตองปุ) และมีหน้าที่เข้ามาสวดพระปริตรทำน้ำมนต์ที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังทุกวัน น้ำพระปริตรนั้น ส่วน ๑ แบ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์ และพระมหากษัตริย์ทรงสรง อีกส่วน ๑ ใส่บาตร ๒ ใบ ให้เจ้าหน้าที่มณเฑียรบาล (ปัจจุบันคือ ตำรวจวัง) ถือเดินตามพระครูพระปริตร ๒ รูป เข้าประตูดุสิตศาสดาประพรมประทักษิณารอบพระมหามณเฑียรแล้วออกทางประตูสนามราชกิจ ในปัจจุบันนี้กระทำในวันธรรมสวนะ

ประเพณีวัง

หอศาสตราคมสำหรับพระรามัญนิกายสวดทำน้ำระปริตร

ประเพณีวัง

ประตูดุสิตศาสดาทางเข้าสำหรับพระรามัญนิกาย
ประพรมน้ำพระปริตรรอบหมู่พระมหามณเฑียร

     การทรงบาตร พระมหากษัตริย์มักจะทรงบาตรเวลา ๘.๐๐ น. เสด็จลงจุดธูปเทียน เครื่องทองน้อย ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร และเครื่องดุริยางค์ เจ้าหน้าที่นิมนต์พระสงฆ์เข้ารับอาหารบิณฑบาตเรียกว่า “พระล่อง” เมื่อเข้าประตูพระราชวังชั้นใน เจ้าพนักงานพระราชกุศลจ่ายผ้าถวายติดมือไปรูปละ ๑ ผืน และคอยรับคืนที่ประตูพระราชวังขาออก ผ้านี้เป็นผ้าขาวขนาดผ้าเช็ดมือ ประทับตรากาชาดและพับเป็นรูปยาวรีเรียกว่า “ผ้าเช็ดมูลกา” เนื่องจากมีพระราชทานอภัยแก่กามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ในพระบรมมหาราชวังมีกาอาศัยอยู่มาก เกรงว่ากาจะถ่ายมูลให้เปรอะเปื้อนในเวลาทรงบาตร แต่ความจริงนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าพระภิกษุที่ถือผ้าเช็ดมูลกานั้นไม่ใช่แปลกปลอมเข้าไป