คำว่า “ปรเมนทร์” และ “ปรมินทร์”

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2564
ร1

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราช

ร2

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ร3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ร4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ

ร5

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาจุฬาลงกรณ์ ฯ

ร6

พระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหาวชิราวุธ ฯ

ร7

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา
ประชาธิปก ฯ

ร8

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา
อานันทมหิดล ฯ

ร9

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ

     มีผู้เข้าใจคำว่า “ปรเมนทร์” หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ที่ครองราชย์สมบัติในรัชกาล ที่ เป็นเลขคู่ และคำว่า “ปรมินทร์” หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ที่ครองราชย์สมบัติในรัชกาลที่เป็นเลขคี่

     ความหมายของคำว่า ปรเมนทร์ และ ปรมินทร์ นั้น หมายถึงผู้ยิ่งใหญ่ เพิ่งจะมาบัญญัติใช้เป็น พระนามต้นของพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     มูลเหตุของการบัญญัติใช้ ปรเมนทร์ และ ปรมินทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า ในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓ พระนามขึ้นต้นว่า “สมเด็จ พระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง ๓ รัชกาล และเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ มีคนเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินต้น” รัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินกลาง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงทราบ จึงทรงรังเกียจว่าถ้าเช่นนั้นรัชกาลของพระองค์ก็จะอยู่ในฐานะเป็น “แผ่นดินปลาย” หรือ “แผ่นดินสุดท้าย” อันเป็นอัปมงคล ครั้งนั้นประจวบกับเวลาได้ทรงสร้างพระพุทธรูปยืน ขนาดใหญ่ เป็นพระทรงเครื่องขึ้นไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๒ องค์ และถวายพระนามว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช องค์ ๑ ถวายพระนามว่า “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ดังนี้ (คำที่ใช้เรียกกันว่า “รัชกาล” เป็นของที่เกิดขึ้นใหม่ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แต่ก่อนเรียกว่าแผ่นดิน) พอถึงรัชกาลที่ ๔ ก็เกิดปัญหาว่าจะเรียกนามรัชกาลที่ ๓ ว่าอย่างไร

พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ควรจะมีนามแผ่นดินตั้งไว้สำหรับ คนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญทุกรัชกาล จึงทรงบัญญัติอนุโลมต่อพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ ให้เรียกรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เรียกรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ให้เรียกรัชกาลที่ ๓ ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (คำว่า “นั่งเกล้าฯ” มาแต่ พระนามเดิมว่า “ทับ” คำว่า “จอมเกล้าฯ” มาแต่พระนามเดิมว่า “มงกุฎ” ) นามแผ่นดินซึ่งทรงบัญญัติ ก็เลยใช้เรียกเป็นพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์นั้นด้วย เนื่องด้วยการที่ทรงบัญญัติ นามแผ่นดินให้เป็นระเบียบดังกล่าวมา จึงทรงแก้ไขพระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏให้ต่างกัน ทุกพระองค์ เป็นต้นว่าพระปรมาภิไธยของพระองค์เองแต่งขึ้นด้วยพระนามเดิมว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ สร้อยพระนามใช้ตามแบบโบราณเพื่อรักษาสวัสดิมงคลไว้บ้าง แต่งใหม่ตามสร้อยพระนามเดิมบ้าง ตามพระบารมีและคุณวิเศษในพระองค์บ้าง ลงนามแผ่นดินไว้ข้างท้ายว่า “พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ดังนี้ ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อจะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบรมวงศ์และเสนาบดีปรึกษากัน คิดพระปรมาภิไธยที่จะจารึกในพระสุพรรณบัฏ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก ๔ พระนาม    

พระนามที่ ๑
ฯลฯ
พระนามที่ ๔

     “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัต วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราหณี จักรีบรมนารถมหามกุฏราชรามารังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอรรคอุกฤษฐไพบูลย บุรพาดูลย์กฤษดาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษฏ์ ธัญญลักษณวิจิตร์โสภาคย์สรรพางค์ มหาชโนตมางค์ประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพสุภผล อุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศศสรรพ มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสาร สยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายก อนันตมหันตวรฤทธิเดชสรรพิวิเสศศิรินทร มหาชนนิกรโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิศิศ สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อัคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชบพิตร์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

     คำว่า “ปรมินทร์” นี้ ทราบว่าเป็นกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ว่า ควรจะใช้สลับรัชกาลกับคำ “ปรเมนทร์” จึงใช้เป็นแบบต่อมา พระนามที่ ๔ นี้ ในสมุดที่พบมีบานแผนกจดไว้ว่า ฉบับนี้ได้ถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดว่า พระราชหฤทัยของท่านรักอย่างนี้ดีแล้ว ก็เป็นอันตกในพระนามที่ ๔ ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ต่อมาเมื่อกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ แก้สร้อยพระนามบางแห่งแลลงท้ายพระนามว่า พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่นั้นมา