เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หน่วยราชการในพระองค์ ขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านศิลปาชีพ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2566

ศิลปาชีพ

ไทยอุดมข้าวกล้าธัญญาหาร เลี้ยงคนสักร้อยล้านก็เลี้ยงได้

ชาวนาอุทิศตนเลี้ยงคนไทย แต่มีใครสักคนเล่าเลี้ยงชาวนา …

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักถึงความสำคัญของชาวไร่ชาวนาผู้ผลิตอาหาร ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของมนุษย์ จึงทรงพระราชดำริที่จะจัดหาอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะทำนาทำไร่ต่อไป ไม่ต้องขายที่ดิน ไม่ต้องเป็นหนี้สิน และไม่ต้องทิ้งถิ่นไปทำมาหากินตามเมืองใหญ่ อันจะก่อให้เกิดปัญหาความแออัดของชุมชนในเมืองใหญ่ตามมาอีก สิ่งที่จะเป็นอาชีพเสริมนั้น จะต้องเป็นอาชีพที่ประกอบอยู่ที่บ้านได้ในเวลาที่ว่างจากการทำไร่ทำนา หรือเมื่อดินฟ้าอากาศไม่อำนวยให้เพาะปลูก หรือแม้แต่ผู้ไม่มีดินจะเพาะปลูก ก็จะสามารถประกอบอาชีพเสริมนี้ได้ด้วยทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน และด้วยภูมิปัญญาตลอดจนด้วยฝีมือของเขาเอง

          นี่คือที่มาของพระราชดำริในการนำศิลปหัตถกรรมมาเป็นอาชีพเสริมให้แก่ชาวไร่ชาวนาไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดการปฏิบัติงานแบบครบวงจร เมื่อทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านทอผ้าไหม ก็ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสาวไหมไปพร้อมกันด้วย

บางครั้งเมื่อมีคนเฝ้าฯ มากก็ต้องทรงงานอยู่ค่ำมืด แต่ก็ทรงเตรียมพร้อมอยู่แล้วโดยที่ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้จำกันว่าเวลาเสด็จฯ ไปไหน จะต้องมีไฟฉายไปในขบวนให้เพียงพอที่จะใช้ส่องเวลาทรงงาน และเวลาขบวนเคลื่อนอีกด้วย พระองค์เคยเสด็จเยี่ยมราษฎร และทรงงานอยู่จนตีหนึ่งตีสอง จึงเสด็จกลับพระตำหนัก

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2526 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดผ้าไหมชนิดต่าง ๆ เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมพื้น เป็นต้น โดยจัดขึ้น ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ผู้ชนะการประกวดในแต่ละประเภทจะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล นับว่าเป็นการกระตุ้นให้ราษฎรผู้ทอผ้าไหม ได้มีความกระตือรือร้นในคุณภาพของผ้าไหม รักษาลวดลายโบราณ และมีกำลังใจที่จะผลิตงานฝีมือด้านนี้ต่อไป

ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับชาวไทยภูเขาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือเข้าเป็นสมาชิกศิลปาชีพแผนกช่างเงิน ช่างทอง เนื่องจากได้มีชาวไทยภูเขามาขอพระราชทานการช่วยเหลือ เพราะเครื่องเงิน เครื่องประดับแบบชาวเขาของเขาขายไม่คล่อง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้พวกเขาเข้าไปฝึกงานที่โรงฝึกศิลปาชีพในบริเวณพระตำหนักภูพิงคราช-นิเวศน์ ทรงแนะนำรูปแบบใหม่ ๆ  โดยยังคงไว้ซึ่งลวดลายของเผ่าพันธุ์ให้ทำจนกระทั่งในขณะนี้งานฝีมือชาวไทยภูเขาที่เป็นสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ก้าวหน้าไปอย่างมากมาย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดให้ปั้นรูปสัตว์เป็นตัวอย่างให้ชาวไทยภูเขาทำขึ้นด้วยเนื้อเงิน สมาชิกแผนกปั้นจะออกไปศึกษากายวิภาคของสัตว์ที่จะปั้นเสียก่อน เพื่อให้สามารถปั้นได้เหมือนของจริงที่สุด

มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เสด็จฯ เยี่ยมกลุ่มปั้นตุ๊กตาชาววังที่วัดท่าสุทธาวาส ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

ในภาคใต้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านสานเสื่อกระจูดและเสื่อเตย โปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดเสื่อทั้งเสื่อโบราณและเสื่อสานใหม่ โดยพิจารณาลวดลาย การให้สี และความประณีตของฝีมือ

เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรและทรงศึกษาย่านลิเภาพันธุ์ต่าง ๆ

ทรงช่วยให้คนพิการมีงานฝีมือทำ เพื่อให้มีรายได้และชีวิตไม่สิ้นหวัง

งานจักสานหวายและไม้ไผ่ของไทยเราทำได้สวยงามอยู่แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงติชม และทรงเป็นกำลังใจให้สมาชิกศิลปาชีพรักษาคุณภาพให้ดีพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้

ทรงเปรียบเทียบกระเป๋าย่านลิเภากับกระเป๋าไม้ไผ่ลายขิด ซึ่งมีความงามไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงใช้กระเป๋าทรงถือสานด้วยย่านลิเภา ประกอบและตกแต่งด้วยฝีมือช่างทองของศิลปาชีพ

วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๖ เสด็จฯ ไปบ้านโต้ะโมะ ตำบลภูเขาทอง กิ่งอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ทรงสนับสนุนกลุ่มแกะสลักเรือกอแระของภาคใต้ ทรงนำมาใช้ปักดอกไม้ต่างแจกันบนโต้ะเสวย และทรงใช้ตกแต่งพระตำหนัก 

แผนกแกะสลักหนังตะลุง

วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ เสด็จฯ ไปบ้านสร้างค้อ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับพระราชหฤทัยในความงามระยับของปีกแมลงทับที่ราษฎรนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำปีกแมลงทับที่มีสีสันสวยงาม บ้างก็มีสีออกทองแดง บ้างก็สีออกเขียว และสีออกน้ำเงิน มาตัดปักประกอบงานปักมือแทนลูกปัดและเลื่อม และนำมาตกแต่งงานฝีมืออื่น ๆ ได้อีก

จากการเสด็จเยือนราษฎรในพื้นที่อันเป็นป่าไม้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพบตอไม้ถูกทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก จึงทรงสนับสนุนให้ราษฎรนำตอไม้เหล่านั้นมาแกะสลักเป็นศิลปาชีพที่งดงามอีกแขนงหนึ่ง หากตอไม้หมดไปก็ให้จักหาวัตถุดิบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มาทดแทน เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มเติม

แผนกเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ฝีมือเขียนลวดลายของสมาชิกศิลปาชีพ ที่เขียนลวดลายตามจินตนาการจากสิ่งที่เห็นรอบตัว และจากเรื่องราววรรณคดีที่ได้ฟังมา เป็นที่พอพระราชหฤทัย และทรงชื่นชมในอัจฉริยะที่มีอยู่ในลูกหลานของชาวนาชาวไร่เหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

ดอกไม้ประดิษฐ์ของศิลปาชีพนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเน้นให้ประดิษฐ์ไทย ๆ เช่น สารภี บุนนาค ปีบ จันทร์กะพ้อ นางแย้ม เป็นต้น เยาวชนรุ่นหลังจะได้รู้จักและชื่นชม วัตถุดิบในการผลิตก็ให้ใช้ของในไทยให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้ของต่างประเทศ ดอกไม้ศิลปาชีพจึงเป็นดอกไม้ไทยที่ทำจากของไทย ฝีมือของคนไทย ด้วยใจรักในความเป็นไทย

นักเรียนศิลปาชีพแทบทุกแผนกจะต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนเขียนลายก่อน แล้วจึงย้ายไปเรียนวิชาอื่น ๆ เช่น เครื่องถม คร่ำ แกะสลักต่าง ๆ ฯลฯ ตามความถนัดและความสนใจ แต่บางรายก็สมัครใจเรียนเขียนลายต่อไป ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นการเขียนภาพจิตรกรรมที่ยากขึ้นตามลำดับ

มีพระราชดำริให้อนุรักษ์การปักซอยแบบไทย โดยจัดตั้งกลุ่มปักผ้าขึ้นทั่วทุกภาค ให้ฝึกหัดปักจากลายง่าย ๆ จนถึงขั้นปักภาพวาด ภาพเหมือนและภาพจิตรกรรมต่าง ๆ มีพระราชประสงค์ให้ใช้ไหมไทยเส้นเล็กละเอียดที่เรียกว่า ‘ไหมน้อย’ มาใช้ปัก

ภาพเขียนฝีมือสมาชิกศิลปาชีพ แผนกเขียนลาย โปรดเกกล้าฯ ให้นำมาเป็นแบบให้แผนกปักผ้า

แม้แต่คนพิการ หากมีกำลังกายและกำลังใจพอที่จะประดิษฐ์งานศิลป์ได้ ก็จะทรงจัดหาศิลปาชีพที่เหมาะสมให้ และคนพิการเหล่านี้ก็ตั้งใจทำงาน ส่วนใหญ่มีฝีมือดีสมกับที่ได้ตั้งพระทัยพระราชทานพระมหากรุณา