พระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2566

พระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 แล้ว ครั้นวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จออกประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา แล้วได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ ต่อมาได้กำหนดเป็นวันสำคัญของชาติและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทุกปีสืบมา

          ต่อมาทางรัฐสภาได้ขอพระบรมราชานุญาตหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ประดิษฐานเป็นพระบรมราชานุสรณ์ไว้ที่หน้าตึกประชุมรัฐสภา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์  เนื่องในพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2523  ดังนั้นตั้งแต่ พุทธศักราช 2524 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพุ่มดอกไม้แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองทิศและเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์  แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม

          การตั้งแต่งในท้องพระโรงหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม  ตั้งพระที่นั่งพุดตานเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 7 ขึ้นประดิษฐาน และเชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยวางบนพานทองสองชั้น ในมณฑลพิธีแวดล้อมด้วยต้นไม้ทอง-เงิน พร้อมด้วยเครื่องนมัสการพานทองสองชั้น

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าท้องพระโรงหลัง ทรงจุดธูปเทียนที่เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล แล้วพระสงฆ์ 15 รูป (จำนวนพระสงฆ์กำหนดตามเกณฑ์เมื่อครั้งพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญปีแรก ขณะนั้นแบ่งส่วนราชการเป็น 12 กระทรวง การปฏิบัติพระสงฆ์จึงมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 12 กระทรวง) เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนภัตตาหารแด่ประธานสงฆ์  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และคณะรัฐมนตรี ประเคนตามลำดับ  พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมนทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา  เสด็จพระราชดำเนินกลับ

          ภายหลังต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนงานพระราชพิธีเป็นตอนบ่าย  งดเฉพาะการถวายภัตตาหาร

          การแต่งกาย  แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายช้างเผือก

เพลินพิศ  กำราญ