ยักษ์ทวารบาล ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2566

     บริเวณพระทวารพระระเบียงด้านในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่งยักษ์ทวารบาล การก่ออิฐถือปูน ทาสีและประดับกระเบื้องเคลือบ มีขนาดสูง ๖ เมตร รวมจำนวน ๖ คู่ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ยักษ์ทวารบาลเหล่านี้เป็นตัวละครสำคัญในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

ทศกัณฐ์ พญายักษ์

     ลักษณะทำเป็นหน้ายักษ์ ๓ ชั้น คือ ชั้นแรกมีหน้าปกติ ๑ หน้า และมีหน้าเล็กๆ เรียงกัน ๓ หน้า  ตรงท้ายทอย ชั้นที่ ๒ ทำเป็นหน้าเล็ก ๆ ๔ หน้า เรียงสี่ด้าน ชั้นที่ ๓ ทำเป็นหน้าพรหม ด้านหน้าหน้ายักษ์ด้านหลัง ปากแสยะตาโพลง สวมมงกุฎยอดชัย หน้าทศกัณฐ์มี ๓ สี คือ ปกติใช้หน้าสีเขียว ตอนนั่งเมืองใช้หน้าสีทอง และมีทำหน้าสีน้ำรัก           
     ทศกัณฐ์มีกายสีเขียว ๑๐ พักตร์ ๒๐ กร เป็นโอรสองค์ที่ ๑ ของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา นับเป็นกษัตริย์กรุงลงกาองค์ที่ ๓  มีมเหสี คือ นางมณโฑ กับนางกาลอัคคี และนางสนมอีกเป็นจำนวนมาก มีโอรส ๑,๐๑๕  มีธิดา ๒  อุปนิสัยไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม หยาบช้า สามารถถอดจิตออกจากตนได้ ใครฆ่าไม่ตาย ทำให้ประพฤติตนไม่ถูกต้อง ไปลักพานางสีดามเหสีของพระรามมา จึงเป็นต้นเหตุแห่งศึกกรุงลงกา ทำให้พี่น้องเผ่าพงศ์ยักษ์ล้มตายเป็นอันมาก ในที่สุดก็ตายด้วยศรของพระราม โดยหนุมานขโมยกล่องดวงใจไปได้


สหัสสเดชะ พญารากษส

     ลักษณะหน้ายักษ์สีขาว ทำเป็นหน้า ๔ ชั้น หรือ ๕ ชั้น ชั้นแรกมีหน้าปกติ ๑ หน้า หน้าเล็ก ๆ ๓ หน้า เรียงอยู่ด้านหลังตรงท้ายทอย ชั้นที่ ๒ ๓ และ ๔ ทำเป็นหน้าเล็ก ๔ หน้า เรียงลดหลั่นกันไป ชั้นบนสุดทำเป็น ๒ แบบ คือ เป็นแบบหน้ายักษ์ และแบบหน้าพรหม คล้ายกับหัวทศกัณฐ์ ปากแสยะตาโพลง สวมมงกุฎชัย
     กายสีขาว มี ๑,๐๐๐ พักตร์ ๒,๐๐๐ กร ครองกรุงปางตาล เป็นพี่ชายของมูลพลัม มีตะบองวิเศษชี้ต้นตายชี้ปลายเป็น ได้พรจากพระพรหม เมื่อรบกับผู้ใดให้พลในกองทัพนั้นแตกกระจายไป เมื่อทศกัณฐ์ขอร้องให้มูลพลัมน้องชายไปช่วยศึกกรุงลงกา สหัสสเดชะได้ไปรบด้วย เมื่อมูลพลัมตายจึงได้รบแก้แค้น ตายโดย หนุมานจับตะบองวิเศษหักและมัดด้วยหางตัดเศียรขาดกระเด็น


ไมยราพณ์ หรือ มัยราพณ์ พญายักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีม่วงอ่อน ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฎกระหนก แต่บางตำราว่าเป็นมงกุฎหางไก่กายสีม่วงอ่อนมี ๑ พักตร์ มี ๒ กร เป็นโอรสท้าวมหายมยักษ์กับนางจันทรประภา น้องชายของนางพิรากวน ครองกรุงบาดาลต่อจากท้าวมหายมยักษ์ มีเวทมนตร์สะกดทัพและเครื่องสรรพยาเป่ากล้อง ทศกัณฐ์เชิญไปช่วยรบกับพระราม ไมยราพณ์ได้สะกดทัพจับตัวพระรามไปไว้ในเมืองบาดาล หนุมานตามไปช่วยพระรามและฆ่าไมยราพณ์ตาย


วิรุญจำบัง พญายักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีมอหมึก ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฎหางไก่ กายสีมอหมึกมี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นโอรสของพญาทูษณ์ ครองเมืองจารึกต่อจากพญาทูษณ์ มีม้าคู่ใจชื่อ นิลพาหุ ตัวดำปากแดง บางตำราว่าตัวขาวหัวดำ หายตัวได้ทั้งตนทั้งม้า ยกทัพไปช่วยทศกัณฐ์รบกับกองทัพพระรามสมทบกับกองทัพของท้าวสัทธาสูร พระรามแผลงศรฆ่าม้าทรง จึงหนีไปซ่อนตัวในฟองน้ำเชิงเขาอัศกรรณ หนุมานตามไปฆ่า


สุริยาภพ ยักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีแดงชาด ปากขบตาโพลง เขี้ยวงอกงอลง และมีสัณฐานหน้าเหมือนอินทรชิต สวมชฎามนุษย์ยอดเดินหนเช่นเดียวกับอินทรชิต จอนหูมีทั้งแบบจอนหูมนุษย์ และจอนหูยักษ์
     กายสีแดงชาด มี ๑ หน้า ๒ มือ เป็นโอรสองค์ที่ ๑ ของท้าวจักรวรรดิและนางวัชนีสูร มีหอกเมฆพัทเป็นอาวุธวิเศษ เมื่อพระพรตยกทัพทำศึกเมืองมลิวัน ได้สู้รบกับพระสัตรุดและพุ่งหอกเมฆพัทถูกพระสัตรุดสลบ รุ่งขึ้นสุริยาภพออกรบและตายในสนามรบด้วยศรของพระพรต


อินทรชิต พญายักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีเขียว ปากชบตาโพลงเขี้ยวคุด (ดอกมะลิ) สวมชฎามนุษย์ หรือ ชฎายอดกาบไผ่เดินหนแบบพระอินทร์ จอนหูมี ๒ แบบคือ จอนหูแบบมนุษย์ และจอนหูแบบยักษ์ นอกจากนี้ยังมีทำเป็นหน้าสีทองอีกแบบหนึ่ง และในตอนเป็นเด็กสวมกะบังหน้ามีเกี้ยวรัดจุก (ชฎาเด็ก หรือหัวกุมารไว้จุก)
     กายสีเขียว มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นโอรสทศกัณฐ์กับนางมณโฑ มีมเหสีชื่อนางสุวรรณกันยุมา มีบุตรชื่อยามลิวันและกันยุเวก อินทรชิตเดิมชื่อรณพักตร์ เมื่อรบชนะพระอินทร์ ทศกัณฐ์จึงตั้งชื่อให้ว่าอินทรชิต ได้รับพรจากพระเป็นเจ้า ๓ องค์ คือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ มีอิทธิฤทธิ์มาก รบกับพระรามหลายครั้งหลายหน ตายด้วยศรพระลักษมณ์ที่เนินเขาจักรวาล ตอนตายองคตต้องนำพานจากพระพรหมธาดามารองรับเศียรอินทรชิต เพื่อมิให้ตกถึงพื้น เพราะจะเกิดไฟไหม้ทั่วทั้งจักรวาล


มังกรกัณฐ์ พญายักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีเขียวหรือสีทอง ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฎยอดนาค กายสีเขียว มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นโอรสพญาขรกับนางรัชฎาสูร ชาติเดิมคือทรพี ครองกรุงโรมคัลต่อจากพญาขร คราวอินทรชิตชุบศรนาคบาศ ทศกัณฐ์ให้ออกไปรบขัดตาทัพ ตายด้วยศรพระราม


วิรุฬหก พญารากษส

     ลักษณะหน้ายักษ์สีขาบ บางตำราว่าสีเขียวขาบ บางแห่งว่าสีม่วงแก่ ปากแสยะตาโพลง บางแห่งว่า ตาจระเข้ สวมมงกุฎยอดนาค มีเครื่องประดับกายล้วนแล้วแต่นาคอันมีพิษ
กายสีขาบ บางตำราสีเขียวขาบ มี ๑ หน้า ๒ มือ อาศัยอยู่ใต้พื้นดินระหว่างเขาตรีกูฎ ครองเมือง มหาอันธการ ไปเข้าเฝ้าพระอิศวรปีละ ๗ ครั้ง ครั้งหนึ่งขณะขึ้นบันไดไปยังเขาไกรลาสสำคัญว่าพระอิศวรประทับอยู่ ก็ถวายบังคมขึ้นไปทุกขั้นบันได ตุ๊กแกตัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่บนยอดเขาเห็นจึงล้อเลียนด้วยการร้องตุ๊กแกและผงกหัวขึ้นลงทุกครั้งที่วิรุฬหกก้มลงกราบ วิรุฬหกโกรธจึงถอดสังวาลนาคขว้าง ตุ๊กแกตายคาที่ มีผลทำให้เขาไกรลาสเอียงไปด้วย ทศกัณฐ์เป็นผู้ผลักเขาให้ตรง


ทศคิรีธร ยักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีหงดิน ปากขบตาจระเข้ บางแห่งว่าตาโพลง ปลายจมูกเป็นงวงช้าง สวมมงกุฎ กาบไผ่ กายสีหงดิน ๑ หน้า ๒ มือ ขี่ม้าผ่านดำ เป็นโอรสท้าวทศกัณฐ์กับนางช้าง มาเยี่ยมทศกัณฐ์พร้อมกับทศคิรีวัน และเข้าทำสงครามพร้อมกัน ตายด้วยศรพระลักษมณ์เช่นเดียวกับทศคิรีวัน


ทศคีรีวัน ยักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีเขียว ปากขบตาจระเข้ บางแห่งว่าตาโพลง ปลายจมูกเป็นงวงช้าง สวมมงกุฎ กาบไผ่ กายสีเขียว มี ๑ หน้า ๒ มือ ขี่ม้าผ่านขาว เป็นโอรสทศกัณฐ์ที่เกิดกับนางช้าง เป็นบุตรบุญธรรมของท้าวอัศกรรณมาราสูร พันธมิตรของทศกัณฐ์ คราวหนึ่งมาเยี่ยมทศกัณฐ์ จึงได้เข้าร่วมรบในศึกกรุงลงกา ตายด้วยศรพระลักษมณ์


จักรวรรดิ พญายักษ์

ลักษณะหน้ายักษ์สีขาว ๔ หน้า ทำเป็น ๒ ชั้น ชั้นแรกเป็นหน้าปกติ ๑ หน้า ชั้นที่ ๒ ทำเป็นหน้าเล็ก มี ๓ หน้า ปากแสยะตาโพลง (บางทีทำเป็นปากแสยะตาจระเข้ มีเขี้ยวโง้งแหลม) สวมมงกุฎหางไก่ กายสีขาว มี ๔ พักตร์ ๘ กร เป็นกษัตริย์แห่งเมืองมลิวัน สหายของทศกัณฐ์ มเหสีชื่อวัชนีสูร มีบุตร ๓ คน ได้แก่ สุริยาภพ บรรลัยจักร นนยุพักตร์ และมีบุตรี ๑ คน คือ รัตนมาลี ต่อมาเมื่อไพนาสุริยวงศ์รู้ความจริงว่าทศกัณฐ์คือบิดาที่แท้จริง จึงลอบมาหาท้าวจักรวรรดิขอกองทัพไปช่วยกู้ลงกา ท้าวจักรวรรดิยกทัพไปลงกาจับพิเภกหรือท้าวทศคิริวงศ์จำตรุ ยกไพนาสุริยวงศ์ครองกรุงลงกา ให้นามว่าท้าวทศพิน พระพรตยกมาปราบ และยกทัพต่อมายังเมืองมลิวัน สู้รบกัน ในที่สุดท้าวจักรวรรดิตายในที่รบ


อัศกรรณมาราสูร หรือ อัศกรรณมารา พญายักษ์

     ลักษณะหน้ายักษ์สีม่วงแก่ ทำเป็นหน้า ๒ ชั้น ชั้นแรกเป็นหน้าปกติ ๑ หน้า หน้าเล็ก ๓ หน้าเรียงกันอยู่ตรงท้ายทอยด้านหลัง ชั้นสองทำเป็นหน้าเล็ก ๓ หน้า ปากขบตาโพลง หรือปากแสยะตาโพลง บางแห่งว่าตาจระเข้ สวมชฎามนุษย์ หรือมงกุฎชัย
     กายสีม่วงแก่ มี ๗ พักตร์ ๒ กร ครองกรุงดุรัม เป็นผู้ขอทศคิรีวัน ทศคิรีธร โอรสทศกัณฐ์มาเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อทศคิรีวัน ทศคิรีธรตายในศึกลงกา จึงยกทัพไปรบ พระรามแผลงศรตัดตัวขาดจากกันไม่ตายแต่กลับกลายเป็นทวีคูณเรื่อย ๆ ไป ในที่สุดพิเภกบอกวิธีสังหาร โดยต้องกวาดร่างทิ้งแม่น้ำคงคา และตายด้วยเหตุนี้