
ประวัติความเป็นมาของสำนักงานองคมนตรี
สำนักงานองคมนตรี เป็นส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจขององคมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ถวายพระมหากษัตริย์และการอื่นตามพระราชอัธยาศัย โดยมีเลขาธิการองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ
สำนักงานองคมนตรี เป็นหน่วยงานที่มีประวัติความเป็นมาและพัฒนาการอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏตำแหน่งที่เรียกว่า “เคลิกออฟเคาน์ซิลลอร์” ในพระราชบัญญัติ ปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษาในพระองค์ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑ วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ ปีจอฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ มีหน้าที่ในการจดรายชื่อจำนวนที่ปฤกษาราชการในพระองค์ การรับแจ้งกรณีที่ปฤกษาราชการในพระองค์จะเดินทางออกจากพื้นที่ปฏิบัติงาน และ การร่างจดหมายเชิญประชุมที่ปฤกษาราชการในพระองค์
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติองคมนตรี” ขึ้นแทน “พระราชบัญญัติ ปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษา ในพระองค์” ซึ่งในมาตรา ๑๐ ได้บัญญัติถึงตำแหน่ง “เลขาธิการองคมนตรี” ไว้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงตั้งข้าราชการในกรมราชเลขาธิการคนหนึ่งขึ้นไว้ในตำแหน่งเลขาธิการองคมนตรีเป็นเจ้าพนักงานประจำ มีหน้าที่เป็นผู้รักษาทะเบียนองคมนตรีและเป็นเลขาธิการของที่ประชุมสภากรรมการองคมนตรี” และมี “กองเลขาธิการองคมนตรี” เป็นส่วนราชการระดับกองในกรมราชเลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับองคมนตรีในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนในที่สุดได้มีการตราประกาศยกเลิก พระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ ส่งผลให้ตำแหน่งองคมนตรีถูกยุบเลิกไป และมีผลต่อการยุบเลิกข้าราชการ ในกองเลขาธิการองคมนตรีไปด้วย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒” ซึ่งในมาตรา ๑๓ ได้บัญญัติถึงคณะองคมนตรีและหน้าที่ขององคมนตรี ความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกที่บัญญัติถึงคณะองคมนตรีและหน้าที่ของคณะองคมนตรี จากนั้นได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ “หม่อมเจ้านิกรเทวัญ เทวกุล” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะองคมนตรี ควบคู่กับตำแหน่งราชเลขาธิการ
“สำนักเลขาธิการองคมนตรี” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกโดย “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๗” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๕ ซึ่งให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ. ๒๕๐๖ และให้แบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการออกเป็น ๖ กอง โดยมี
“สำนักเลขาธิการองคมนตรี” เป็นส่วนราชการระดับกองเพิ่มขึ้นมาจากเดิม และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี” นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา จวบจนกระทั่งเมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จึงใช้ชื่อว่า “สำนักงานองคมนตรี” ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์หน่วยหนึ่งในทั้งหมด ๓ หน่วยราชการในพระองค์