พระโสทรเชษฐภคินี

     ตามธรรมเนียมราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับราชสมบัติ บรมราชาภิเษกแล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชบุพการีดำรงพระอิสริยศักดิ์สูงขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพยกย่องแด่พระบรมวงศานุวงศ์ และเพื่อสนองพระกรุณาธิคุณแห่งพระเกียรติยศ ให้ปรากฏสืบไป

พระโสทรเชษฐภคินี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

พระโสทรเชษฐภคินี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จผ่านไอศูรย์ราชสมบัติปราบดาภิเษก เป็นพระปฐมบรมกษัตริย์ราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ พระชนมพรรษา ๔๖ พรรษา ครั้งนั้น พระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีสิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว จึงทรงสถาปนาพระบรมอัฐิขึ้นไปเป็น “พระปฐมบรมมหาชนก” และสถาปนาพระพี่นางสองพระองค์ ซึ่งดำรงพระชนม์อยู่ ให้มีเกียรติยศสูงยิ่ง พระพี่นางพระองค์ใหญ่ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา เทพสุดาวดี”พระพี่นางพระองค์น้อยทรงสถาปนาขึ้นเป็น“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์” ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินี ในรัชกาลที่ ๑

พระโสทรเชษฐภคินี
พระโสทรเชษฐภคินี

พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช

พระโสทรเชษฐภคินี

พระราชชนนีศรีสังวาลย์ กับพระโอรส และพระธิดา ระหว่างประทับ
ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระพี่นางสองพระองค์ สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ไม่ปรากฏพระนาม สิ้นพระชนม์แต่กรุงเก่ายังไม่เสียอิสรภาพแก่พม่า สมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยทรงพระนามว่า “ฉิมใหญ่” ทรงเป็นพระราชชายาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สิ้นพระชนม์เสียแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๒ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงมิได้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์แต่อย่างใด ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินี ในรัชกาลที่ ๒

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย ประไพพรรณพิจิตร นริศรราชกุมารี สิ้นพระชนม์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ ด้วยพระชนมายุ ๘ พรรษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านพิภพบรมราชาภิเษกแล้ว จึงทรงสถาปนาพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย ประไพพรรณพิจิตร นริศรราชกุมารี กรมพระเทพนารีรัตน์” ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินี ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

พระโสทรเชษฐภคินี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ ทรงเยี่ยมนักเรียนในโรงเรียนตามต่างจังหวัด

พระโสทรเชษฐภคินี

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ เสด็จขึ้นครองราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระพี่นางขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา”
     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ได้ถวายความเคารพยกย่องพระโสทรเชษฐภคินีเป็นอย่างยิ่งเสมอมา ด้วยที่ทรงพระอภิบาลอาทรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญพระชนมายุสูงยิ่งขึ้นเพียงใด ความเอื้ออาทรก็มิได้คลายไปจากพระราชหฤทัยแต่ประการใด สมดั่งที่ทรงเป็นพระกุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชวงศ์ที่ทรงไว้ซึ่งพระอิสริยศักดิ์แห่งขัตติยราชนารีของพระบรมราชตระกูลอันสูงไว้ด้วยความขันติ ทรงมีพระคุณานุคุณ และทรงเป็นที่เคารพนับถือแห่งพระบรมราชวงศ์ ตลอดทั้งทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์มาด้วยความจงรักภักดี อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เพื่อเป็นการสนองพระกรุณาธิคุณ เชิดชูพระเกียรติตามพระราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ ๖ รอบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ดำรงพระอิสริยศักดิ์เจ้าฟ้าต่างกรมผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมราชประเพณี ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”

บารมีพระปกเกล้า   ชาวประชา
ถ้วนทั่วนครา         ร่มรื่น
ความทุกข์จะเกิดมี   คลายผ่อน
ดั่งขาดสุรีย์ไซร้       ก็ได้รัชนี

มายเหตุ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
     มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรี นฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้ทรงรับพระราชภาระสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ดำรงพระองค์เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทย ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่อาณาประชาราษฎร์ เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของบรรดาพสกนิกร และนานาอารยประเทศจนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมาจวบจนปัจจุบัน แต่เหล่าพสกนิกรก็ยังคงคำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณไม่เสื่อมคลาย ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ สมควรได้รับสนองพระเดชพระคุณถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น ด้วยมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกนาถ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
     “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน