พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จออก มหาสมาคมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นปฐมแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ โดยเสด็จประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งมีพระแท่นมนังคศิลาอาสน์เป็นพระราชบัลลังก์รองรับ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต จึงถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเป็นราชประเพณีที่จะต้องเสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในการเปิดประชุมรัฐสภาทุกสมัยตามรัฐนูญสืบมา

     ความสำคัญของพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ มีประวัติดังนี้ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์เป็นที่ประทับห้อยพระบาท ทำด้วยไม้แกะสลัก มีภาพสลักประดับสองชั้นหุ้มทองประดับรัตนชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเสด็จประทับออกขุนนาง เพื่อทอดเหนือพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎล มหาเศวตฉัตร ใช้เป็นพระราชอาสน์ที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกประทับในงานพระราชพิธีใหญ่ ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น และพระที่นั่งองค์นี้เช่นกันทำเป็นพระราชยานได้ จึงมีห่วงสำหรับสอดคานหาม และใช้เป็นพระราชยานในการเสด็จพระราชดำเนิน พยุหยาตราทางสถลมารค เช่น พระราชพิธีเลียบพระนคร หรือพระราชพิธีเสด็จถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น

พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๔ รอบ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

     เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ นั้น ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน ๔๕ วัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวทั่วราชอาณาจักร

     วันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั่วราชอาณาจักร มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคน้อยได้รับคัดเลือกเข้าสู่สภา ๑๑ พรรค ทำหน้าที่ เป็นตัวแทนให้กับราษฎรในสภา คือ

     พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคนำไทย พรรคประชากรไทย พรรคเสรีธรรม พรรคเอกภาพ พรรคมวลชน และภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้เปิดประชุมสามัญของสภาเป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเป็นรัฐพิธี ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ในพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต