พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.33 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2565 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยโบราณ  คงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนเกษตรกรให้ปลูกพืชผลโดยเฉพาะการทำนา เพราะข้าวเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิต  พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศจึงเป็นผู้นำลงมือไถนาและหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่าง  เพื่อเตือนราษฎรว่าถึงเวลาทำการเพาะปลูกแล้ว

          ต่อมา เมื่อพระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศมีพระราชภารกิจอื่น  จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถนาและหว่านธัญพืช พระมเหสีหรือพระชายาที่เคยร่วมไถนาหว่าน ก็เปลี่ยนเป็นท้าวนางในราชสำนัก ออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนา เรียกว่า เทพี

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีชนหลายเชื้อชาติที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ได้แก่  อินเดีย จีน และกัมพูชา สำหรับประเทศไทยนั้น มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่กระทำในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแต่พิธีพราหมณ์ตามแบบสมัยอยุธยา  ไม่มีพิธีสงฆ์

          ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ร่วมในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำมาตั้งในมณฑลพิธี ก่อนจะนำไปไถหว่าน เรียกพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีพืชมงคล  เมื่อรวมพระราชพิธี ๒ พระราชพิธี เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  เป็นราชประเพณีสืบมา จัดการพระราชพิธี ๒ วัน  วันแรก คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้น คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์

          พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญเกษตรกร จึงได้กำหนดวันประกอบพระราชพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี  โดยเลือกวันขึ้นแรมฤกษ์ยามอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์  และอยู่ในระหว่างเดือน ๖ ทางจันทรคติ  พระราชพิธีนี้จึงไม่ได้กำหนดวันในแต่ละปีตามปฏิทินได้แน่นอน   ตามปกติแล้ววันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะอยู่ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี   การที่กำหนดในเดือน ๖ ก็เพราะเป็นเดือนที่เริ่มเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร คือ ชาวนาจะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักของไทยมาแต่โบราณ   เมื่อโหรหลวงคำนวณวันอุดมมงคลฤกษ์แล้ว สำนักพระราชวังจะลงพิมพ์ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันปีใหม่ทุกปี   โดยกำหนดว่า วันใดเป็นพระราชพิธีพืชมงคล วันใดเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้กำหนดเป็นวันสำคัญของชาติ  คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันหยุดราชการและประกาศให้มีการประดับธงชาติ

          พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีสืบมาจนถึง พุทธศักราช ๒๔๗๙  แล้วได้เว้นว่างไป  ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๘๓ รัฐบาลกำหนดให้มีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พระราชพิธีพืชมงคล  ณ  พระอุโบสถ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แต่ให้เรียกว่า รัฐพิธีพืชมงคล    

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

          พุทธศักราช ๒๕๐๓  เลขาธิการพระราชวังรับบรมราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระราชพิธีพืชมงคลแต่เดิมจัดเป็นการพระราชพิธี ๒ วัน แล้วได้ระงับไปคงไว้แต่รัฐพิธีพืชมงคลรัฐบาลจึงสนองพระราชดำริให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลและรัฐพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อรักษาราชประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรสืบไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดการพระราชพิธีพืชมงคลและรัฐพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นต้นมา ครั้นพุทธศักราช ๒๕๐๖  จึงเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเคยจัดพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง ทุ่งพญาไท (บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ทุ่งส้มป่อย (บริเวณสนามม้าราชตฤณมัย) และที่อื่น ๆตามแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธี ครั้นเมื่อได้ฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่จัดพระราชพิธีในรัชกาลที่ ๑ – ๓ 

          ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา เริ่มแรกการฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นมาใหม่ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคัดเลือกจากข้าราชการสตรีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้นต่อมามีการยุบกรมการข้าว จึงต้องเปลี่ยนผู้ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา จากอธิบดีกรมการข้าวเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          ส่วนเทพีคัดเลือกจากข้าราชการสตรีระดับชำนาญการขึ้นไป ที่ยังมิได้สมรสจากกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพระราชพิธีพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธี ทรงอธิษฐานขอความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารให้มีแก่ราชอาณาจักร นอกจากนี้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงพระราชพิธีให้เหมาะสมกับยุคสมัย กับได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวในแปลงนาสาธิตบริเวณสวนจิตรลดาซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ  เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนาสาธิตแล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพันธุ์ข้าวประมาณ ๔๐ – ๕๐ กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้ในการพระราชพิธี เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมานี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านในมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกร  เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการส่งเสริมการเกษตรตามพระราชประสงค์

รายละเอียดพระราชพิธีพืชมงคลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

          ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ตั้งม้าหมู่บนธรรมาสน์ศิลาประดิษฐาน พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบัน  พระพุทธคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๑   พระพุทธรูปปางสมาธิทรงภาวนาให้ต้นข้าวเกิดงอกงามรอบพุทธบัลลังก์ (รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น)   พระชัยนวโลหะรัชกาลที่๔ พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ พระคันธารราษฎร์จีน พระบัวเข็ม เทวรูปพระพลเทพ (เทพเจ้าแห่งการเกษตร) รูปพระโคอุสุภราช (เป็นพาหนะของพระอิศวร) หน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและใต้ธรรมาสน์ศิลาตั้งกระบุงทองกระบุงเงินอย่างละคู่ บรรจุข้าวเปลือกพันธุ์พระราชทานจากแปลงนาสาธิตและมีถุงผ้าบรรจุพันธุ์พืชต่าง ๆ แล้ววงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปโยงไปถวายพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่และทองทิศไว้พร้อม

          ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนิน  พระยาแรกนาและเทพีไปนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญที่หน้าฐานชุกชี

          เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณีพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่และเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาอาราธนาศีล พระราชาคณะประธานสงฆ์ถวายศีล  เมื่อทรงศีลแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระดำเนินไปที่ธรรมาสม์ศิลาทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์และพระพุทธรูปสำคัญ แล้วทรงประพรมพันธุ์พืชต่าง ๆ ทรงโปรยดอกมะลิและกลีบกุหลาบ แล้วทรงถวายพวงมาลัยพระพุทธรูปทุกองค์   โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แล้วทรงจุดเทียนบูชาพระคันธารราษฎร์ ๒ คู่ ทรงจุดเทียนบูชาพระคันธารราษฎร์จีน ๑ เล่ม ทรงอธิษฐานขอความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักร  แล้วประทับพระราชอาสน์ประธานพระครูพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล จบแล้ว พระสงฆ์ จำนวน ๑๑ รูป มีพระราชาคณะวัดระฆังโฆสิตารามเป็นประธาน  และพระสงฆ์เปรียญธรรม ๙ ประโยคจากวัดต่าง ๆ จำนวนอีก ๑๐ รูป (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ทรงกำหนดเพราะโปรดอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)  วัดระฆังโฆสิตาราม แต่งคาถาพืชมงคล) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์คาถาพืชมงคล  จบแล้ว  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานน้ำสังข์ (สังข์นคร) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานน้ำสังข์ด้วยสังข์นคร รดที่ศีรษะ พระราชทานใบมะตูมแก่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทัดที่ซอกหูขวา และทรงเจิมพระราชทานที่หน้าผากแล้วพระราชทานพระธำมรงค์นพเก้าสำหรับสวมที่นิ้วมือขวา ๑ วง และสวมนิ้วมือซ้าย ๑ วงกับพระราชทานพระแสงปฏักที่จะใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแก่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นผู้เป็นเทพีทั้ง ๔ คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานน้ำสังข์ใบมะตูม และทรงเจิม ตามลำดับ ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเทพีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานน้ำสังข์  พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา

          จากนั้น  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระดำเนินไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์ จตุปัจจัยไทยธรรมที่ทรงประเคนในพระราชพิธีพืชมงคลบรรจุในถาดและมีคนโทแก้วบรรจุน้ำฝนด้วย  ซึ่งเป็นธรรมเนียมต้องจัดภาชนะบรรจุน้ำฝนแก่พระสงฆ์เฉพาะในพระราชพิธีนี้  อันเป็นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริไว้) เมื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วพระสงฆ์ออกจากพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงพระดำเนินไปทรงกราบที่เครื่องนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

          ต่อจากนั้นคณะพราหมณ์เชิญเทวรูปพระพลเทพและพระโคอุสุภราชจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประดิษฐานร่วมกับเทวรูปที่อัญเชิญมาจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ คือ เทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอุมา พระลักษมี  พระมเหศวรี และพระพิฆเนศ ณ แท่นเบญจา ในโรงพิธีพราหมณ์ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง พร้อมทั้งนำกระบุงทอง กระบุงเงินบรรจุข้าวเปลือกรวมทั้งพืชพันธุ์ต่าง ๆ และเครื่องสักการะตามลัทธิธรรมเนียมของพราหมณ์ไปไว้  ณ  โรงพิธีพราหมณ์ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงด้วย จากนั้น คณะพราหมณ์จะได้ประกอบพิธีกรรมสวดพระเวทตลอดคืน

วันนี้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ

รายละเอียดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

          เวลา ๖ นาฬิกา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีแต่งกายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วขึ้นรถยนต์หลวงไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เข้าทางประตูสวัสดิโสภา ข้าราชการที่เข้าริ้วขบวนอิสริยศของพระยาแรกนาแต่งเครื่องแบบเต็มยศ เชิญเครื่องยศของพระยาแรกนาขึ้นรถตาม เมื่อเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วพระยาแรกนาและเทพีจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปที่ปราสาทพระเทพปิดรสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แล้วขึ้นรถยนต์หลวงเป็นขบวนออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง

          เวลา ๗ นาฬิกา ที่มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง  เจ้าพนักงานตั้งริ้วขบวนอิสริยยศรับพระยาแรกนา  เมื่อพระยาแรกนาลงจากรถยนต์หลวง  สวมลอมพอกแล้วเดินเข้าประจำที่ในริ้วขบวนพร้อมด้วยคู่เคียง  ผู้เชิญเครื่องยศและเทพียาตราขบวนอิสริยยศไปยังโรงพิธีพราหมณ์ พนักงานประโคมกลองชนะ สังข์ แตร และปี่พาทย์  เมื่อพระยาแรกนาและเทพีเข้าสู่โรงพิธีพราหมณ์ ประธานพระครูพราหมณ์เชิญพระยาแรกนาไปที่แท่นเบญจาประดิษฐานเทวรูป พระยาแรกนาจุดธูปเทียนบูชาเทวรูป แล้วไปนั่งพักพร้อมด้วยเทพี จากนั้น ประธานพระครูพราหมณ์เข้าไปหลั่งน้ำสังข์และมอบใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพี แล้วประธานพระครูพราหมณ์เชิญโต๊ะเงินวางผ้านุ่งสำหรับเสี่ยงทายมีผ้าคลุมให้พระยาแรกนาสอดมือเลือกหยิบผ้าออกมา เมื่อพระยาแรกนาเลือกผ้านุ่งได้แล้วพระยาแรกนาเข้าไปในห้องแต่งตัวเพื่อนุ่งผ้าที่เสี่ยงทายทับผ้านุ่งเดิม (ผ้านุ่งเสี่ยงทายมีจำนวน ๓ ผืน ผืนหนึ่งกว้าง ๔ คืบ ผืนหนึ่งกว้าง ๕ คืบ และผืนหนึ่งกว้าง ๖ คืบ) ครั้นพระยาแรกนานุ่งผ้าเสี่ยงทายเรียบร้อยแล้วออกไปนั่งที่เดิม

          เวลา ๘ นาฬิกา ๓๐ นาที  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาท้องสนามหลวง  พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรี ข้าราชการพลเรือน และคณะทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ชาวนาและกลุ่มเกษตรกรซึ่งจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลภายหลังพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จที่ปะรำซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดไว้ 

          ที่โรงพิธีพราหมณ์ เจ้าพนักงานตั้งริ้วขบวนอิสริยยศพระยาแรกนายาตราออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีบัณฑิตนำริ้วขบวน (สมัยโบราณ ผู้นำริ้วขบวนต้องเป็นผู้ที่เคยบวชเรียนสอบได้เปรียญธรรม) เชิญพระเต้าเทวบิฐบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ พระเต้านี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นและโปรดให้ใช้พรมพื้นแผ่นดินในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นราชประเพณีสืบมา ถัดมา มีพราหมณ์เป่าสังข์ ๑ คู่ พราหมณ์เชิญเทวรูปพระพลเทพและพระโคอุสุภราชนำ   มีผู้เชิญกรรชิงหน้า ๑ คู่ ผู้เชิญกรรชิงหลัง ๑ คู่ แล้วถึงพระยาแรกนาถือพระแสงปฏัก  ตามด้วยประธานพระครูพราหมณ์  เทพีทั้ง ๔ หาบกระบุงทองกระบุงเงินบรรจุข้าวเปลือกตามพระยาแรกนา  เมื่อถึงพลับพลา   พระยาแรกนาส่งพระแสงปฏักให้ประธานพระครูพราหมณ์ถือไว้   พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ชานชั้นลดพลับพลาตรงที่ประทับ  คุกเข่าถวายบังคม ๓ ลา  แล้วถอยออกมารับพระแสงปฏักคืน  พระยาแรกนาเดินเข้าสู่ลานแรกนาไปเจิมคันไถและเจิมพระโคทั้งคู่

          ครั้นได้เวลาฤกษ์  โหรหลวงบูชาพระฤกษ์และลั่นฆ้องชัย  เจ้าพนักงานย่ำมโหระทึก ประโคมแตรงอน แตรฝรั่ง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงพร้อมกัน พระยาแรกนาจับหางไถมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือพระแสงปฏัก บัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐพรมน้ำพระพุทธมนต์ลงพื้นดินนำ ต่อด้วยพราหมณ์เชิญเทวรูปพระพลเทพและพระโคอุสุภราช พระยาแรกนาจับหางไถไถดะไปโดยรี ๓ รอบ ไถโดยขวาง ๓ รอบ แล้วพระยาแรกนาส่งพระแสงปฏักให้ประธานพระครูพราหมณ์ถือไว้ พระยาแรกนาหยิบข้าวเปลือกในกระบุงทองกระบุงเงินหว่านลงในลานแรกนา จากนั้นไถกลบอีก ๓ รอบ เมื่อไถบรรจบรอบแต่ละรอบ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย  เจ้าพนักงานประโคมมโหระทึก แตรงอน แตรฝรั่ง และปี่พาทย์ ครั้นไถกลบแล้ว พระยาแรกนาและเทพีกลับเข้าโรงพิธีพราหมณ์ บัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ  พราหมณ์เชิญเทวรูปพระพลเทพและพระโคอุสุภราชไปตั้งยังแท่นเบญจาในโรงพิธีพราหมณ์ตามเดิม

          เจ้าพนักงานที่มีทำหน้าที่ดูแลพระโค  ปลดพระโคออกจากแอกแล้วจูงพระโคทั้งคู่ไปยืนที่ขอบลานแรกนาตรงหน้าพลับพลาที่ประทับ  พราหมณ์เชิญถาดบรรจุกระทงใบตองใส่ของกินเลี้ยงเพื่อให้พระโคเสี่ยงทาย  ถาดบรรจุกระทงใบตองซึ่งใส่ของกินเลี้ยง ๗ สิ่ง กระทงละ ๑ สิ่ง ประกอบด้วยข้าวเปลือก  ข้าวโพด  ถั่ว  งา  เหล้า  น้ำ  หญ้า  ไปให้เจ้าพนักงานเลี้ยงพระโค พระโคกินอะไร   เจ้าพนักงานผู้ถือถาดกระทงอาหารนำไปแจ้งแก่โหรหลวง โหรหลวงจดรายงานพยากรณ์ให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อ่านกราบบังคมทูลรายงาน

          คำพยากรณ์ผ้านุ่งพระยาแรกนา กำหนดไว้ดังนี้

          พระยาแรกนาหยิบได้ผ้านุ่งกว้าง ๔ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลผลิตดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

          พระยาแรกนาหยิบได้ผ้านุ่งกว้าง ๕ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำสำหรับปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์  และผลาหารมังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี

          พระยาแรกนาหยิบได้ผ้านุ่งกว้าง ๖ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

          คำพยากรณ์การเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง มีดังนี้

          พระโคกินข้าว หรือ ข้าวโพด   พยากรณ์ว่า   ธัญญหารผลาหารจะบริบูรณ์ดีพระโคกินถั่ว หรือ งา  พยากรณ์ว่า ผลาหารภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี

          พระโคกินน้ำ หรือ หญ้า   พยากรณ์ว่า   น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหารภักษาหารมังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี

          พระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

          เมื่อรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กราบบังคมทูลจบแล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเบิกชาวนาผู้ชนะการประกวดผลผลิตข้าวแต่ละภาค เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัล และเบิกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสหกรณ์ดีเด่นเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานโล่เกียรติคุณ 

          เสร็จแล้ว พระยาแรกนาเข้าขบวนอิสริยยศยาตราออกจากโรงพิธีพราหมณ์ผ่านพลับพลาที่ประทับ เมื่อถึงพลับพลา พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท คุกเข่าถวายบังคม ๓ ลา แล้วยาตราขบวนอิสริยยศไปขึ้นรถยนต์หลวงพร้อมด้วยเทพีไปรอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่แปลงนาสาธิตในบริเวณสวนจิตรลดา 

          จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จออกจากพลับพลาพิธี  ทรงพระดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงไปยังแปลงนาสาธิต สวนจิตรลดา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงนาแปลงนาสาธิต เสด็จเข้าพลับพลา ประทับพระราชอาสน์ พระยาแรกนาและเทพีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจากนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาแรกนาและเทพีไปหว่านข้าวในแปลงนาสาธิตสำหรับพระราชทานไปใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีต่อไป เสร็จแล้ว พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชปฏิสันถารกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนาเกี่ยวกับการเกษตร การประมง และการปศุสัตว์  แล้วเสด็จขึ้น

วันนี้แต่งกาย เครื่องแบบปกติขาว

นางสาวเพลินพิศ กำราญ เรียบเรียง