เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หน่วยราชการในพระองค์ ขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน

         พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการแก้ปัญหาดินในทุกลักษณะ ทั้งดินปนทราย ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และการพังทลายของดิน เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ดีขึ้น การทรงงานเรื่องดินเป็นที่ประจักษ์ต่อนักวิทยาศาสตร์ด้านดินทั่วโลก ในพุทธศักราช ๒๕๔๗ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้มีมติเสนอให้วันที่ ๕ ธันวาคม (วันพระบรมราชสมภพ) เป็นวันดินโลก เพื่อรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณด้านการจัดการทรัพยากรดิน

          โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดินที่สำคัญ ได้แก่ โครงการแกล้งดิน ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดนราธิวาส  เป็นตัวอย่างของการประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุให้แก่เกษตรกรจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ทำให้สามารถปลูกข้าวและเพาะปลูกพืชไร่ได้ การศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าแฝก ทรงศึกษางานวิจัยของธนาคารโลกเรื่องหญ้าแฝก ทรงพบว่าหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีประโยชน์ มีรากยาวแทงทะลุดินกว่า ๓๐๐ เซนติเมตร ซึ่งรากหญ้าแฝกที่ยาวมากนี้จะเกาะเกี่ยวเนื้อดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการพังทลายของดินบริเวณเนินเขา ปัญหาดินปนทรายและดินดาน  อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำเป็นอย่างมาก จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการศึกษาเรื่องหญ้าแฝก ซึ่งการศึกษาได้ประสบผลเป็นที่ประจักษ์ โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เป็นโครงการที่เกิดจากพระราชประสงค์ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอมีพอกินตามหลักทฤษฎีใหม่ – ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการพัฒนาที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการแบ่งพื้นที่แปลงเล็ก ๆ จำนวน ๑๕ ไร่ ออกเป็น ๔ ส่วน ในอัตรา ๓๐ : ๓๐ : ๓๐ : ๑๐ ส่วนแรกสำหรับการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงปลา ส่วนที่สองสำหรับปลูกข้าว  ส่วนที่สามสำหรับปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์  และ   ส่วนที่สี่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งหากเกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเองแล้วจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมตามหลักการนี้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างอย่างยั่งยืนภายใต้ความประหยัด เรียบง่าย มีพืชผลการเกษตรบริโภคโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินหรือระบบทุนนิยมมากจนเกินไป

          นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง โครงการอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริหนองพลับ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโครงการจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จังหวัดเพชรบุรี  ทั้งยัง พระราชทานแนวพระราชดำริการแก้ปัญหาดินเค็ม โดยให้ใช้ระบบชลประทานช่วยเจือจางลดความเค็มของดินที่จังหวัดสกลนคร การแก้ปัญหาดินทรายตามแนวพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมที่เขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

KnowledgeOther