คำกราบทูล ของ ศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2560 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช วันอังคารที่ 25 กันยายน 2561

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ.2561
คำกราบทูล(๑) 

ของ 
ศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา 
จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ 
ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 
วันอังคารที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ 

ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท 

ข้าพระพุทธเจ้า ศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย 
วลัยลักษณ์ ขอพระราชทานพระอนุญาตกราบทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัย 
วลัยลักษณ์ โดยสังเขป ดังนี้ 

ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ เป็นปีที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินงานครบ ๒๕ ปี
โดยนับตั้งแต่จัดตั้งมหาวิทยาลัย ฯ จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัย ฯ ได้จัดการศึกษาและ 
ผลิตบัณฑิตที่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก 
ทำาให้การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ฯ ประสบความสำเร็จ พร้อมก้าวสู่การเป็น 
มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบอย่างเต็ม 
ภาคภูมิ โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัย ฯ ได้เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี
จนถึงบัณฑิตศึกษาใน ๑๓ สำนักวิชา และ ๓ วิทยาลัย ครอบคลุมทั้งด้าน 
สังคมศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ นอกจากนี้
มหาวิทยาลัย ฯ ยังได้จัดตั้งสถาบันภาษาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะสากลให้แก่นักศึกษา 

(๑) ถ้อยคำและอักขรวิธีตรงตามต้นฉบับ 

246

ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนในทุกสาขาวิชาจะเน้นการสอนทฤษฎีควบคู่กับการ 
ฝึกปฏิบัติวิชาชีพอย่างเข้มข้น จัดระบบการเรียนการสอนโดยเน้นการใช้กระบวนการกลุ่ม 
ขนาดเล็ก หรือ Tutorial Class ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับแต่ละหลักสูตร มีห้อง 
ปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์และสื่อการสอนที่ทันสมัย อีกทั้งให้นักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษา 
ในองค์กรชั้นนำทั้งใน และต่างประเทศเพื่อให้ได้สัมผัสกับการทำงานจริง ซึ่งจาก 
การสำรวจพบว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัย ฯ ร้อยละ ๙๘.๒ มีงานทำาหลังจากสำเร็จ 
การศึกษาภายใน ๑ ปี อีกทั้งบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพสามารถสอบใบประกอบ 
วิชาชีพผ่านในระดับดีเยี่ยม สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ได้ 
เป็นอย่างดีปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีรวมแล้ว ๑๖ รุ่น 
ปริญญาโท ๑๖ รุ่น และปริญญาเอก ๑๓ รุ่น มีหลักสูตรที่เปิดสอนทั้งหมด 
๖๖ หลักสูตร จำแนกเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ๓๖ หลักสูตร ปริญญาโท 
๑๗ หลักสูตร และปริญญาเอก ๑๓ หลักสูตร มีนักศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 
๘,๗๘๙ คน จำแนกเป็นระดับปริญญาตรี จำนวน ๘,๓๖๑ คน ปริญญาโท 
๓๑๘ คน และปริญญาเอก ๑๑๐ คน 

ในการดำเนินภารกิจด้านการวิจัยและการบริการวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัย 
ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้คณาจารย์พัฒนางานวิจัยและให้บริการวิชาการที่ตอบสนองต่อ 
ความต้องการตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี
และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ โดยในแต่ละปี
มหาวิทยาลัย ฯ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง 
สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยสู่ระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ผลงานวิจัยที่
โดดเด่นในปีที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูป 
ในโรงงานอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบอุตสาหกรรมไมโครเวฟ 
ร่วมกับลมร้อนเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์มของโรงบีบรวม โครงการพัฒนาสารกระตุ้น 
ภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคตายด่วนในกุ้ง โครงการพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องดื่ม 
กึ่งสำาเร็จรูปเพื่อสุขภาพจากข้าวไข่มดริ้น : ข้าวพันธุ์พื้นเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 
โครงการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านวัสดุแม่เหล็กสปินครอสโอเวอร์เพื่อพัฒนาหน่วย 
จัดเก็บความจำแบบใหม่ นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณ 
สนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการตามแผนงานบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์รวม 
งบประมาณทั้งสิ้น ๒๒.๘๕ ล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 
โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาคุณภาพสถาบัน 
การศึกษาและแหล่งเรียนรู้ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง 

247
โครงการพัฒนาศักยภาพคนไทย โครงการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง 
ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อจัดตั้งศูนย์การแพทย์ขนาด ๗๕๐ เตียง 
ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยคาดว่าตัวอาคารจะ 
แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๒ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและ 
อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นศูนย์การแพทย์ระดับตติยภูมิที่จะให้บริการรักษาโรค 
ควบคู่ไปกับการวิจัย 

สำหรับภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยได้พัฒนา 
แหล่งเรียนรู้อุทยานโบราณคดีและอุทยานธรรมนิทัศน์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ 
และวัฒนธรรมภายใต้กรอบแนวคิดอุทยานการศึกษา โดยให้บริการนำชมแหล่ง 
โบราณสถานตุมปังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องตลอดปี มีการจัดกิจกรรม 
ส่งเสริมวิชาการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านภาษาและวรรณกรรม ตลอดจนศิลปะ 
การแสดงพื้นบ้านทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ อาทิ กิจกรรมอ่านกวี
ร้องเพลงถวายพ่อ เพื่อถวายความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กิจกรรมส่งเสริม 
มรดกเพลงพื้นบ้านภาคใต้ ประเภทเพลงร้องเรือเด็ก และการประกวดขับบท 
หนังตะลุงในงานประเพณีเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช กิจกรรมประกวด 
เพลงบอกเยาวชนชิงโล่พระราชทาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ ฝึกอบรม 
สัมมนา จัดการแสดง กิจกรรมเชิงประเพณีและผลิตรายการศิลปะและวัฒนธรรม 
เผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาอย่าง 
ต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้จริง 
และทำงานได้จริง มีคณาจารย์คุณภาพ มีความเป็นเลิศด้านการวิจัย และจะพัฒนา 
ไปสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ให้สมดัง 
วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลัก 
ในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล” 

ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ นี้ สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีมติให้ขอประทาน 
ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคนิคการแพทย์ แด่พระเจ้า 
วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ 

สำหรับผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันนี้ ประกอบด้วยผู้ได้รับอนุมัติ
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๑ คน ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ 
ปริญญาเอก จำนวน ๙ คน ระดับปริญญาโท จำนวน ๗๑ คน และระดับปริญญาตรี

248
จำนวน ๑,๖๗๖ คน และผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานเข็มกิตติการ จำนวน ๑ คน 
โล่กิตติการ จำนวน ๙ คน โล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น จำนวน ๒ คน 
บัณฑิตที่ได้รับเหรียญรางวัล จำนวน ๒๓ คน ผู้ได้รับรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ 
ซึ่งเป็นผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักศึกษา จำนวน ๓ คน 
เข้ารับพระราชทานรางวัล 

บัดนี้ ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระวโรกาส 
กราบทูลใต้ฝ่าพระบาท พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเข็มกิตติการ 
โล่กิตติการ โล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น เหรียญรางวัล รางวัลศึกษิต 
แห่งปีที่วลัยลักษณ์ ต่อจากนั้น ขอพระราชทานพระโอวาท เพื่อเป็นสิริสวัสดิ์
พิพัฒนมงคลแก่บัณฑิตผู้เข้าร่วมพิธี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม 

249