คำกราบบังคมทูล ของ รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานกิจการของมหาวิทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 (ภาคแรก)

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ.2562
คำกราบบังคมทูล(๑) 

ของ 
รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
รายงานกิจการของมหาวิทยาลัย 
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ 
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
วันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ 
(ภาคแรก) 

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท 

ข้าพระพุทธเจ้า รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัย 
ธรรมศาสตร์ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จพระราช 
ดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ 
นับเป็นสิริมงคลยิ่งแก่กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิต 
นักศึกษา และข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ในวโรกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้า 
ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัย 
ธรรมศาสตร์ในรอบปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้ 

๑. ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรม 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์
ต่อการพัฒนาประเทศ และในรอบปีที่ผ่านมา ได้เน้นการผลักดัน ๘ กลุ่มงานวิจัยและ 
นวัตกรรมที่สนองนโยบายของรัฐบาล “ไทยแลนด์ ๔.๐” การสร้างเครือข่ายความ 

(๑) ถ้อยคำและอักขรวิธีตรงตามต้นฉบับ 

115
ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมการเป็นผู้ประกอบการ 
ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาให้กับประเทศ เช่น 
ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโครงการการพัฒนาธุรกิจ 
นวัตกรรมที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) ร่วมกับสำนักงานเทคโนโลยี
นิวเคลียร์แห่งชาติ ในการแก้ปัญหาผลผลิตที่เกินความต้องการ ร่วมกับภาคเอกชน 
ในการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของคณาจารย์และนักวิจัย ทำให้ได้รับรางวัล 
จากเวทีต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา 
ได้รับรางวัลระดับนานาชาติถึง ๑๘ รางวัล นอกจากนี้ ยังได้รับความสนับสนุนจาก 
รัฐบาลในการสร้างศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ศูนย์พัทยา เพื่อเป็นต้นแบบการแพทย์
แบบครบวงจรให้กับประเทศต่อไป 

๒. ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ 

มหาวิทยาลัยมีนโยบายสร้างความเป็นนานาชาติ ด้วยการสร้างหลักสูตรนานาชาติ
และการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์
และนักศึกษาผ่านข้อตกลงความร่วมมือวิชาการในระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ 
โดยใน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในต่างประเทศถึง ๒๗๒ แห่ง 
และมีหลักสูตรนานาชาติ จำนวน ๙๕ หลักสูตร ทำให้ในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย 
ได้รับการจัดอันดับ จากสถาบัน QS ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับและประเมินมาตรฐาน 
ด้านการศึกษาในระดับสากล เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย 

๓. ด้านการเป็นมหาวิทยาลัย Active Learning 

มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะสร้างนักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นผู้นำในโลกยุคใหม่
แห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ผู้เรียน 
ได้เรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์และหาความรู้ในยุคดิจิตอล และลงมือปฏิบัติเป็น นอกจากนี้
ในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยยังได้เน้นทักษะใหม่อีก ๓ ประการ คือ ทักษะด้านการเป็น 
ผู้ประกอบการ ทักษะทางด้านภาษาที่ ๓ และทักษะด้านดิจิตอลเทคโนโลยี เพื่อ 
สนับสนุนและเปิดหลักสูตรสำหรับบุคคลภายนอก หลักสูตรออนไลนหลักสูตรสำหรับ 
ผู้สูงวัย เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งสติปัญญาต่อไป 

๔. ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

จากปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังรุนแรงมากขึ้น 
เรื่อย ๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้กำหนดให้‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ 

116
ของสหประชาชาติเป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ซึ่งในรอบปีที่
ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการดำเนินการเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังต่อไปนี้ 

(๑) 
โครงการเลิกการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 
จำนวน ๓๐ แห่งเข้าร่วม และสามารถลดปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้วไปได้กว่า ๕๕ 
ล้านใบ สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากถุงพลาสติกแล้ว ยังลดจำนวนช้อน 
ส้อม หลอด และแก้วพลาสติกไปได้กว่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ อัน 

(๒) ขณะนี้ศูนย์รังสิต ได้ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บน 
หลังคาอาคารแล้ว ๘ เมกะวัตต์ ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัย 
ที่ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับหนึ่งของทวีปเอเชีย และที่ศูนย์ลำปาง ติดตั้ง 
ทั้งหมด ๗๗๐ กิโลวัตต์ ซึ่งทำให้ศูนย์ลำปาง ใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันจากแสงอาทิตย์ได
๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นที่แรกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย 

(๓) ประเทศไทยปล่อยขยะลงทะเลมากเป็นอันดับ ๖ ของโลก โดยขยะ ๘๐ 
เปอร์เซ็นต์ มาจากแม่นํ้าสายต่าง ๆ ที่ไหลลงอ่าวไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความมักง่าย 
และการทิ้งขยะไม่เป็นที่ เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัด 
กิจกรรม ‘พายเรือเพื่อเจ้าพระยา : เก็บขยะจากปากนํ้าโพถึงอ่าวไทย’ โดยจังหวัดที่แม่นํ้า
เจ้าพระยาไหลผ่านมีทั้งหมด ๑๐ จังหวัด วันที่เริ่มพายคือวันที่ ๑๐ ธันวาคม และ 
เรือที่พายต่อเนื่องจนถึงอ่าวไทย มีทั้งหมด ๑๐ ลำ นับเป็นนิมิตหมายอันอัศจรรย์
ที่ตรงกับรัชสมัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวโรกาสที่จะได้มี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งที่พสกนิกรทั้งประเทศได้
เฝ้ารอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจะได้จัดกิจกรรมชักชวนประชาชนให้ร่วมกันอนุรักษ์
แม่นํ้าเจ้าพระยาและแม่นํ้าสายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป

ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีนักศึกษา 
จำนวน ๓๕,๔๐๙ คน แยกเป็นปริญญาตรี ๓๐,๐๙๒ คน ประกาศนียบัตรบัณฑิต 
๖๘ คน ปริญญาโท ๔,๖๔๒ คน และปริญญาเอก ๖๐๗ คน โดยเปิดสอนใน 
หลักสูตรต่าง ๆ ทั้งหมด ๒๘๖ หลักสูตร แยกเป็นปริญญาตรี ๑๒๗ หลักสูตร 
ประกาศนียบัตรบัณฑิต ๔ หลักสูตร ปริญญาโท ๑๑๖ หลักสูตร และปริญญาเอก 
๓๙ หลักสูตร ทั้งนี้ แยกเป็นหลักสูตรภาษาไทย ๑๘๗ หลักสูตร และหลักสูตร 
ภาษาอังกฤษ ๙๙ หลักสูตร สำหรับในปีการศึกษา ๒๕๖๐ มีผู้สำเร็จการศึกษา 
ในระดับต่าง ๆ ดังนี้ 

117
ปริญญาตรี ๗,๔๗๐ คน 
ประกาศนียบัตรบัณฑิต ๗๖ คน 
ปริญญาโท ๑,๗๕๖ คน 
ปริญญาเอก ๘๘ คน 

บัดนี้ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทาน 
พระราโชวาท เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล และเป็นหลักในการดำเนินงานของบัณฑิต 
นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย และขอพระราชทานพระราชวโรกาส 
กราบบังคมทูลเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม 
พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิตามรายงานที่นายกสภา 
มหาวิทยาลัยจักได้กราบบังคมทูล และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา 
และผู้ได้รับรางวัลเรียนดีทุนภูมิพล สำหรับผู้ได้รับรางวัลเรียนดีทุนภูมิพล ซึ่งสำเร็จ 
การศึกษาที่ได้คะแนนสูงสุดของคณะและสาขาวิชา จะอยู่ในอันดับต้นของแต่ละคณะ ทั้งนี้
ตามที่คณบดีแต่ละคณะ จักได้กราบบังคมทูลต่อไป 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม 

118