คำกราบบังคมทูล ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2558 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2559

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ.2559

คำกราบบังคมทูล(๑)

ของ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา
รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๙

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะองคมนตรี รัฐมนตรี ทูตานุทูต และแขกผู้มีเกียรติ
ทุกท่าน ที่เฝ้าทูลละอองพระบาทอยู่ ณ ที่นี้ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็น ล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
ใต้ฝ่าละอองพระบาทเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานรางวัลสมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีที่ ๒๔ ในวันนี้

ในวาระอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาต ประกาศเกียรติคุณและเบิกบุคคลผู้มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
เข้าเฝ้า ทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลำดับ ดังนี้

(๑)
ถ้อยคำและอักขรวิธีตรงตามต้นฉบับ

21

สาขาการแพทย์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม. โมเวอร์ สำเร็จการศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝึกอบรมเป็นแพทย์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ณ โรงพยาบาลไซนาย เมืองบอลทิมอร์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์อายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ เมืองบอลทิมอร์ และศาสตราจารย์ สรีรวิทยาและชีวฟิสิกส์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเวอร์ด กรุงวอชิงตัน
สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม. โมเวอร์ เป็นผู้ร่วมคิดค้นเครื่อง กระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย หรือเอไอซีดี (AICD: Automatic Implantable
Cardioverter Defibrillator) และเป็นผู้คิดค้นหลักของเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะ หรือซีอาร์ที (CRT: Cardiac Resynchronization Therapy)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม. โมเวอร์ ขณะทำการวิจัยโครงการ ยาหลอดเลือดหัวใจ ณ โรงพยาบาลไซนาย เมืองบอลทิมอร์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.
๒๕๑๒ ได้ร่วมกับนายแพทย์มิเชล มิโรวาสกี แพทย์ชาวอิสราเอล คิดค้นเครื่อง กระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำคัญในการ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติชนิดวีเอฟ (VF = ventricular fibrillation) และวีที (VT = ventricular tachycardia) ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่าง เฉียบพลันในผู้ป่วยโรคหัวใจได้

เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกายผู้ป่วย สามารถทำงานได้ทันทีที่ ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องกระตุ้นหัวใจ
ชนิดภายนอก ทำให้ลดอัตราการตายจากภาวะดังกล่าวได้มาก แนวคิดของอุปกรณ์นี้ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ และมีการฝังเข้าในร่างกายผู้ป่วยเป็นครั้งแรก เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๒๓ ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ โดยองค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาทางคลินิกในหลายสถาบัน พบว่าอุปกรณ์ดังกล่าว สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ ดีกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีการฝังอุปกรณ์นี้ประมาณปีละ ๒๐๐,๐๐๐ คน และมีผู้ใช้อุปกรณ์นี้แล้วประมาณ ๒ -๓
ล้านคนทั่วโลก มี

22

ประสิทธิภาพในการแก้ไขความผิดปรกติของการเต้นหัวใจสูง ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่รอดชีวิตมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง ใต้ฝ่าละอองพระบาทรงเป็นประธาน จึงเห็นสมควรให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม.
โมเวอร์ ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘

สาขาการสาธารณสุข

เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจาก มหาวิทยาลัยซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต และดุษฎี
บัณฑิตทางระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
และศาสตราจารย์ ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข ยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และนายกแพทยสมาคมโลก

เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต มีผลงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยทางระบาด วิทยาอย่างเป็นระบบมานานกว่า ๓๕ ปี โดยเน้นเกี่ยวกับบทบาทของเชื้อชาติ วิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐานะ ความไม่เท่าเทียมกัน ปัจจัยทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีต่อสุขภาวะ ความอายุยืน และโอกาสในการเกิดโรคของประชากรในหลายประเทศ ทั่วโลก
รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ (Social Determinants of Health) ซึ่งเป็นการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบ
ต่อสุขภาพ การป้องกันโรค และการสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของคนอย่างยั่งยืน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา รวมถึงการคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน อาชีพ  และรายได้ ซึ่งรัฐบาลของสหราชอาณาจักรได้นำองค์ความรู้นี้ไปพัฒนาประเทศ และได้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้นำ
แนวคิดนี้ไปวางแผนกลยุทธ์เป็นนโยบายสาธารณะ มีผลต่อแนวทางปฏิบัติด้าน สุขภาพทั่วโลก ส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาวะที่ดี ลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกัน
ทางสุขภาพ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของ มวลมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก

23

คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงเป็นประธาน จึงเห็นสมควรให้ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต
ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘

ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเบิกบุคคลทั้งสอง เข้าเฝ้า ทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ตามลำดับดังนี้

สาขาการแพทย์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม. โมเวอร์

สาขาการสาธารณสุข

เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

24