ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันจันทร์ ที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
วันนี้ เวลา ๑๗.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ฉลองพระชนมายุ ๘ รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ ต่อจากนั้น เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงกราบ แล้วถวายพัดรองที่ระลึกการบำเพ็ญ พระราชกุศลฉลองพระชนมายุ ๘ รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แด่สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ จำนวนรวม ๒๐ รูป ที่จะเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้ว ทรงศีล พระราชาคณะถวายศีล จบ พระสงฆ์ ๒๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์การบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ ๘ รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อเจริญพระพุทธมนต์ถึงบททำน้ำพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนที่ฝาพระครอบพระกริ่ง แล้วทรงประเคนพระครอบพระกริ่งแด่ประธานสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายน้ำสรงที่พระหัตถ์ พัดรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น ๑ พุ่มดอกบัว และผ้าไตรแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ วัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเจริญชัยมงคลคาถาถวายพระพร ต่อจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายน้ำสรงที่พระหัตถ์ พุ่มดอกบัว และผ้าไตร แด่สมเด็จ พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระราชาคณะ แล้วทรงยืนประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระราชาคณะที่ เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้น ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี แล้วทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
/สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ …
– ๒ –
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า อัมพร
ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๐ ที่บ้านตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ทรงเป็นบุตรคนโตในจำนวนบุตรธิดา ๙ คน ของนายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ เมื่อมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ได้ทรงบรรพชาสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๙๑ ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ มหาพันธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร” มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ขณะทรงสมณศักดิ์ พระเทพโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้น ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธ จนทรงสำเร็จเปรียญธรรม ๖ ประโยค และทรงศึกษาต่อ ณ สภาการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ทรงสำเร็จปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ ทรงเข้ารับการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เมื่อทรงสำเร็จการอบรม โดยทรงเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก และในพุทธศักราช ๒๕๑๐ เสด็จไปทรงศึกษาต่อระบบปริญญาโทและทรงสำเร็จการศึกษา มหาบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒
ด้วยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับพระภารธุระ
บุกเบิกกิจการพระธรรมทูต โดยทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย โดยพุทธศักราช ๒๕๑๖ ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาด้านการทหาร ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ อย่างเนืองนิจ อันเป็นปฐมบทในพระราชศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนา
ให้ดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงเป็นคารวสถานของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนมหาชนทุกหมู่เหล่า ทรงสมบูรณ์บรุทธิ์ด้วยพระกิตติประวัติอันปราศจากมลทินโทษ ทรงใฝ่พระทัยในวิปัสสนาธุระเป็นอย่างเอก ทรงพระจริยาการเรียบร้อยประณีตทุกพระอิริยาบถ ทรงผูกประสานน้ำใจกลมเกลียวเกื้อกูลกิจการพระศาสนา โดยไม่ทรงเลือกคณะนิกายฝ่ายหมู่ ทรงวางพระองค์อยู่ด้วยพระเมตตาธรรม เป็นที่ประจักษ์ชัดในหมู่พุทธบริษัท และทรงเอาพระทัยใส่สืบสานปณิธานของพระมหาเถระในอดีต เพื่อธำรงพระบวรพุทธศาสนาให้เป็นหลักชัยสืบไป
ในวันเดียวกันนี้ เวลา ๑๘.๓๑ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ
พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้
นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี นำ นายกฤษดา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษาของมูลนิธิ ฯ และผู้ให้การสนับสนุน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายขบวนรถตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ ประกอบด้วย รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ประสิทธิภาพสูง ๓ มิติ พร้อมอุปกรณ์ จำนวน ๔ คัน รถนิทรรศการเคลื่อนที่ จำนวน ๒ คัน
/รถสาธิต …
– ๓ –
รถสาธิตและการสอนตรวจเต้านม จำนวน ๒ คัน และรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ จำนวน ๒ คัน รวมจำนวน ๑๐ คัน เพื่อพระราชทานแก่มูลนิธิกาญจนบารมี ในโอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ให้การสนับสนุน การดำเนินงานโครงการ ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานโล่เกียรติคุณ ด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและ
ทรงห่วงใยในการดูแลสุขภาพอนามัยของราษฎร โดยเฉพาะสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ห่างไกล และด้อยโอกาส ให้ได้เข้าถึงการตรวจรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิกาญจนบารมี จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม
โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ๔ หน่วย ๔ ภาค ทั่วประเทศ
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๐ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ปัจจุบันมูลนิธิ ฯ มีขบวนรถตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ จำนวน ๒ หน่วย คือ หน่วยที่ ๑ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน่วยที่ ๒ รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่สตรีในพื้นที่ชนบทและห่างไกล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขบวนรถ
ตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ อีกจำนวน ๒ หน่วย ที่ผ่านมามูลนิธิ ฯ ได้ออกให้บริการในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน มีผู้มารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จำนวนกว่าสามแสนราย และพบว่าผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกที่ตรวจพบด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยนี้ สามารถรักษาได้ทันท่วงที รวมถึงการให้ความรู้ในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดและกลับมาใช้ชีวิตและประกอบสัมมาอาชีพได้ต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรเป็นล้นพ้น ต่อจากนั้น
พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบัน ฯ และสมาคมครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายกระเป๋าย่านลิเภาประดับเครื่องถมเงิน ทรงแปดเหลี่ยม ลายบัวกรวยเชิงฝังเพชร แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๖
งานจักสานย่านลิเภา เป็นงานหัตถกรรมเครื่องจักสานพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์พิเศษของภาคใต้
ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริมให้ราษฎร ได้มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์งานฝีมือ งานหัตถกรรม ภูมิปัญญาของชาวบ้านให้คงอยู่กับคนไทย ให้ได้รับความนิยมและ เป็นที่ชื่นชมอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงสืบสานพระราชดำริและทรงนำงานหัตถกรรม อันเป็นเอกลักษณ์พิเศษดังกล่าว เผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตา ของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๘.๔๓ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ณ อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นวันที่ ๒