วันพฤหัสที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2560

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2560

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

วันนี้ เวลา ๑๔.๐๒ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
พลอากาศเอก โยธิน ประยูรโภคราช เป็นผู้แทนพระองค์ พร้อมด้วยคณะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ เชิญถุงยังชีพพระราชทาน ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบวาตภัยในพื้นที่อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ณ หอประชุม
ตรีเทพ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
อนึ่ง เมื่อวันพุธ ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๕๙ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ “เพอรานากันนิทัศน์” อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัด
ภูเก็ต ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตและสมาคมเพอรานากันขออนุญาตจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ใช้อาคารโบราณ
๒ แห่ง คือ อาคารธนาคารชาร์เตอร์ด และอาคารสถานีตำรวจตลาดใหญ่ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ “เพอรานากันนิทัศน์” อาคารดังกล่าวสร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในปี ๒๔๕๐ สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นยุคที่การค้าในภูเก็ตมีความเจริญรุ่งเรือง นับเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่ดำเนินการในภูมิภาค โดยสถาปัตยกรรมของอาคารแสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมจากเมืองปีนัง เมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ประเทศมาเลเซีย มาสู่จังหวัดภูเก็ต
สำหรับพิพิธภัณฑ์ “เพอรานากันนิทัศน์” เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวเพอรานากันให้กับเยาวชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยภายในแบ่งการจัดแสดงเป็น ๗ สถานี ประกอบด้วย
สถานีที่ ๑ “เพอรานากันนิยม” แสดงถึงค่านิยมของชาวเพอรานากันที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งหล่อหลอมวัฒนธรรมจากทั้งไทย จีน มอญ และอินเดีย โดยผู้หญิงชาวเพอรานากันมีหน้าที่อนุรักษ์ประเพณีต่าง ๆ ในครอบครัว สถานีที่ ๒ “ห้องมรดก” จัดแสดงเครื่องประดับหรูหราของชาวเพอรานากัน สำหรับเจ้าสาวใช้ประดับตกแต่งในพิธีแต่งงาน ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะ เช่น ปิ่นตั้ง เข็มกลัดรูปดาว มงกุฎทำจากเพชรและทองคำ ส่วนชั้นที่ ๒ ประกอบด้วย
๕ สถานี โดยสถานีที่ ๓ “ห้องพลัดพราก” จัดแสดงภาพยนตร์สั้นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มชาวจีนและอาก๋งที่
พลัดพรากจากประเทศจีน รอนแรมมากับเรือเพื่อเผชิญโชคในแผ่นดินใหม่ สถานีที่ ๔ “ห้องรากใหม่” หรือกำเนิดเพอรานากัน แสดงถึงชีวิตกำพร้าของเด็กชายที่ได้รับการอุปถัมภ์โดยคนท้องถิ่น สถานีที่ ๕ “ห้องเต๋” แสดงห้อง
น้ำชาที่หรูหรา เป็นสถานที่พบปะทั้งคนในครอบครัว และใช้ต้อนรับแขก จัดแสดงชุดน้ำชาลวดลายต่าง ๆ ทั้งจีน
และยุโรป สถานีที่ ๖ “ห้องผ้า” แสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบาบ๋าและย่าหยา หรือเครื่องแต่งกายของชาย
และหญิงชาวเพอรานากันในยุคสมัยต่าง ๆ และสถานีที่ ๗ “ห้องเจ้าสาว” จัดแสดงห้องเจ้าสาวที่มีการประดับ
ตกแต่งโดยฝีมือของเจ้าสาว รวมทั้งมีไก่ตัวผู้และตัวเมีย เพื่อเสี่ยงทายว่าบ่าวสาวจะมีบุตรคนแรกเป็นเพศชาย
หรือหญิง
ส่วนอาคารสถานีตำรวจตลาดใหญ่ เป็นศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวของเทศบาลนครภูเก็ตจัดแสดงประวัติศาสตร์การกำเนิดของย่านเมืองเก่าภูเก็ต จากสมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ด้วยภาพวาดลายเส้นและภาพเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคแอนนิเมชั่น