วันพฤหัสบดี ที่ 30 มกราคม พ.ศ.2563

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ.2563

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพฤหัสบดี ที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

วันนี้ เวลา ๐๙.๐๓ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษาโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำ คณะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เฝ้าทูลละอองพระบาท ในโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข ในโครงการความร่วมมือไทย – ลาว ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ในโอกาสนี้ คณะวิทยากร และผู้จัดการฝึกอบรม ฯ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทด้วย
ในวันเดียวกันนี้ เวลา ๑๗.๒๒ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัล ฯ ดังนี้
– ศาสตราจารย์ราล์ฟ เอฟ. ดับเบิ้ลยู. บาร์เทนชลากเกอร์ (Professor Dr.Ralf F.W. Bartenschlager) หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ในฐานะที่มีผลงานที่โดดเด่นคือการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV) นำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะ และปลอดภัย หลังการค้นพบเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๒ เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีที่นักวิทยาศาสตร์
ไม่สามารถแยกเชื้อดังกล่าวด้วยเซลล์เพาะเลี้ยง ศาสตราจารย์บาร์เทนชลากเกอร์ และคณะ ได้ค้นพบวิธีเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสนี้ในเซลล์เพาะเลี้ยง และสร้างแบบจำลองชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสได้ ทำให้เปิดโอกาสในการค้นหาสารจำนวนมากที่สามารถเป็นยาต้านไวรัสชนิดนี้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังค้นพบชิ้นส่วนของโปรตีนที่ไม่มีโครงสร้าง
(เอนเอส ๓) ซึ่งสร้างเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัส และพบว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของยาที่สามารถต้านเชื้อนี้ได้
ผลการศึกษานี้ นำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า ดีเอเอ (DAA : direct acting antiviral) ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ให้หายได้ถึงร้อยละ ๙๕ โดยมีผลข้างเคียงน้อยลง ปัจจุบันมีมากกว่า ๗๑ ล้านคนทั่วโลกที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง และนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและ
มะเร็งตับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวประมาณ ๔ แสนคนในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวยังมีราคาสูง แต่ด้วยเป้าหมายที่จะลดการแพร่ระบาดของไวรัสตับอักเสบซี จึงได้มีความช่วยเหลือสำหรับประเทศยากจน ทำให้มีประชากรเข้าถึงการรักษาด้วยยาดีเอเอได้เพิ่มขึ้นจาก ๑ ล้านคน ถึง ๑.๕ ล้านคนในช่วงพุทธศักราช ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ และขณะนี้มีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีโครงการให้การรักษาด้วยยาดีเอเอแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ สำหรับประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ต่อรองราคายาลงกว่าร้อยละ ๗๐ และบรรจุยานี้ใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้คนไทยทุกสิทธิประกันสุขภาพและประกันสังคมใช้สิทธิการรักษาได้ ด้วยความมุ่งมั่นในการศึกษาและค้นพบที่สำคัญ
/ ของศาสตราจารย์ …
– ๒ –

ของศาสตราจารย์บาร์เทนชลากเกอร์ ทำให้สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก
– ศาสตราจารย์ นายแพทย์เดวิด เมบี (Professor David Mabey) ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อและภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร
เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ในฐานะที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตามากว่า ๓๐ ปี โรคริดสีดวงตาเป็นการติดเชื้อของตาที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามิเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งทำให้ตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตาได้มากถึงปีละ ๑.๙ ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ศาสตราจารย์เมบี และคณะ ได้ศึกษาในพื้นที่ของประเทศแกมเบียและแทนซาเนีย และค้นพบว่าการตาบอดจากโรคริดสีดวงตาเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๖ ได้แสดงว่าการให้ยาเอซิโทรมัยซิน (azithromycin) เพียง ๑ ครั้ง สามารถรักษาโรคริดสีดวงตาอย่างได้ผล จึงได้มีการศึกษาแบบพหุสถาบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการให้ยาดังกล่าวในชุมชนแบบประจำปี สามารถลดการแพร่กระจายของโรคนี้ได้ ดังนั้น จึงค้นพบว่า
การให้ยาเอซิโทรมัยซินแบบครอบคลุมประชากรจำนวนมาก สามารถช่วยกำจัดโรคนี้ให้หมดไปได้ในถิ่นที่เป็น
แหล่งระบาดของโรค ผลงานวิจัยนี้นำไปสู่นโยบายขององค์การอนามัยโลก ที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไป
ด้วยโปรแกรมเซฟ (SAFE) ประกอบด้วยการควบคุมโรคโดยการผ่าตัด (surgery) การรักษาแบบครอบคลุมด้วย
ยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ส่งเสริมการล้างหน้า (face washing) และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย (environment) โดยมีการให้ยาเอซิโทรมัยซินถึง ๗๐๐ ล้านโดส สำหรับประชาชนใน ๔๐ ประเทศ ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๐ – ๒๕๖๐ ขณะนี้มี ๑๓ ประเทศ ที่รายงานว่าสามารถกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปได้
สำเร็จแล้ว องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปจากปัญหาทางสาธารณสุข
และไม่เป็นสาเหตุของตาบอดในทุกประเทศทั่วโลกภายในพุทธศักราช ๒๕๖๘ ด้วยความพยายามในการศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมและกำจัดโรคริดสีดวงตาที่ทำให้ตาบอดของศาสตราจารย์เมบี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนหลายล้านคนทั่วโลกดีขึ้น
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อป้องกันและบำบัดรักษาโรคใดโรคหนึ่งนั้น มิใช่สิ่งที่อาจกระทำได้ง่ายนัก และโดยมากก็มิได้เกิดจากการค้นพบโดยบังเอิญ หากเป็นผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจและความ
วิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ของบุคคลผู้อุทิศตนทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ และความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์แม้การศึกษาค้นคว้าวิจัยดังกล่าว จะเป็นการมุ่งศึกษาเฉพาะปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งของโรค หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ คือการพัฒนาแนวทางหรือวิธีการ ที่จะป้องกัน รักษา และขจัดโรคนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นผลงานการศึกษาวงจรชีวิตไวรัสตับอักเสบซี ของศาสตราจารย์ราล์ฟ เอฟ. ดับเบิ้ลยู. บาร์เทนชลากเกอร์ ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญในการพัฒนายาต้านไวรัส
ที่มีประสิทธิภาพสูง อันอำนวยประโยชน์แก่การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในผู้ป่วยทั่วโลก และผลงาน
/ การศึกษา …

– ๓ –

การศึกษาเกี่ยวกับการให้ยารักษาโรคริดสีดวงตาในประเทศแกมเบียและแทนซาเนีย ของศาสตราจารย์ นายแพทย์เดวิด เมบี ซึ่งนำไปสู่นโยบายการกำจัดโรคริดสีดวงตาขององค์การอนามัยโลก อันมีความหวังที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง กับผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
จากผลงานอันทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์อันไพศาล ทั้งแก่วงการแพทย์และการสาธารณสุข ทั้งแก่มวลมนุษยชาติทั่วทุกส่วนของโลก