วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ.2560

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ.2560

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันอังคาร ที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

วันนี้ เวลา ๐๒.๔๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ชัยภูมิ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
เวลา ๐๘.๔๔ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประจำปีการศึก๋ษา ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ ณ หอประชุม
เฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาท
ความว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ กล่าวได้ว่าเป็นนักพัฒนา ด้วยได้รับการศึกษาอบรมด้านบริหาร
การพัฒนามาโดยตรง จนมีความสามารถที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศได้ การเป็นผู้นำดังกล่าว
หมายถึงเป็นผู้กำหนดทิศทางในการพัฒนา ซึ่งมีสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงอยู่ ๒ ประการ ประการแรก
การพัฒนานั้น ต้องกระทำบนพื้นฐานความเป็นจริงของประเทศ และในขณะเดียวกันก็ต้องเท่าทัน
กับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านสภาวะแวดล้อม สถานการณ์ ตลอดจนวิทยาการต่าง ๆ
ประการที่สอง การพัฒนาอาจสำเร็จผลได้ไม่ง่ายนัก หากประชากรส่วนใหญ่ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ
ที่จะก้าวทันความเปลี่ยนแปลงและความเจริญของบ้านเมืองตน นักพัฒนาทุกคนจึงมีหน้าที่อย่างสำคัญ
ที่จะต้องศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเทศของเราและสภาวการณ์ของโลกให้เข้าใจชัด แล้วกำหนดแนวทาง
ที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างเหมาะสมถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็พัฒนาทรัพยากรบุคคล
ให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกับความเจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาบ้านเมือง
ถ้าทำได้ แต่ละคนก็จะสามารถปฏิบัติบริหารงานพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิผล อันจะทำให้ประเทศของเรา
ดำรงมั่นคง และก้าวไกลไปในโลกได้โดยสวัสดี
เวลา ๑๗.๒๓ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัล
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๙
เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ดังนี้
– เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ (Sir Gregory Paul Winter) คณบดีวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัย
เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์
จากผลงานการเป็นนักชีวเคมีระดับชั้นนำของโลกที่ได้ริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างและดัดแปลงโมเลกุล
ของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและลดความเป็นสิ่งแปลกปลอมลง นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนา
ยากลุ่มใหม่จากชีวโมเลกุล ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค โดยแอนติบอดีเป็นชีวโมเลกุลที่สามารถ

/จับจำเพาะ…

– ๒ –

จับจำเพาะกับเป้าหมายต่าง ๆ จึงมีศักยภาพสูงในการใช้รักษาโรค เนื่องจากมีความจำเพาะและมีผลข้างเคียงน้อย
ในอดีตแอนติบอดีได้มาจากเซลล์ของหนูเป็นหลัก ซึ่งเมื่อฉีดเข้าสู่มนุษย์ ร่างกายจะถือเป็นสิ่งแปลกปลอม
และเกิดปฏิกิริยาต่อต้านแอนติบอดีจากหนู ทำให้ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้ เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์
ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการดัดแปลงโมเลกุลแอนติบอดีของหนูให้เป็นโมเลกุลเสมือนกับแอนติบอดีของมนุษย์
โดยการเปลี่ยนถ่ายทดแทนลำดับพันธุกรรมในตำแหน่งที่สำคัญอย่างเป็นระบบ ทำให้โมเลกุลแอนติบอดีใหม่ที่ได้
ยังคงสามารถจับกับเป้าหมายได้อย่างจำเพาะ แต่มีโครงสร้างโมเลกุลเสมือนแอนติบอดีของมนุษย์ที่ไม่เป็น
สิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้สามารถใช้ในการรักษาโรคในมนุษย์ได้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ทำให้เกิด
ความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมาก เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาแอนติบอดีจำนวนมาก ซึ่งเป็นยา
กลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคที่เดิมรักษาได้ยากและมีผลข้างเคียงสูง เช่น โรคกลุ่มภูมิคุ้มกัน
โรครูมาตอยด์ และโรคมะเร็ง ตลอดจนเกิดการพัฒนายาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นับเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย
ของผู้ป่วยนับร้อยล้านคนทั่วโลก
– ศาสตราจารย์ นายแพทย์วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี (Doctor Vladimir Achinski) ศาสตราจารย์
พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัล
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข จากผลงานการเป็นผู้นำในด้านโรคหลอดเลือดสมองและภาวะสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือด ผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี นอกจากจะช่วยชีวิตผู้ป่วย
เป็นจำนวนมากแล้ว ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและความจำเสื่อมได้ด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ร่วมกับนายแพทย์จอห์น ดับเบิลยู นอร์ริส เป็นผู้จัดตั้งหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือด
สมองเฉียบพลันขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็น
มาตรฐานการรักษาจวบจนปัจจุบัน เป็นผู้ริเริ่มนำคำว่า “เบรนแอตแท็ก” (Brain Attack) มาใช้ เพื่อสื่อถึง
ความฉุกเฉินของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เป็นการเตือนให้ผู้ป่วยรีบไปโรงพยาบาลทันที แทนที่จะสังเกต
อาการอยู่ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นผู้ค้นพบบทบาทที่สำคัญของสมองส่วนอินซูลาร์ ซึ่งมีผลต่อการเต้นผิดปรกติของหัวใจ นำไปสู่การเสียชีวิตทันที ทำให้ลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมาก อีกทั้งเป็นผู้บัญญัติคำว่าภาวะสมองเสื่อมจากการขาดเลือด
พร้อมทั้งสร้างเกณฑ์การแยกภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ออกจากภาวะสมองเสื่อมจากการขาดเลือด
และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมผ่านการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
ทำให้วงการแพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และลดอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ในผู้ป่วย
นับล้านคนทั่วโลก
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส
ความว่า การดำเนินงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่ง
ตัวยาและวิธีการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้การรักษาและการป้องกันโรค
บรรลุผลสำเร็จ ผลงานของเซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ นับเป็นตัวอย่างอันดีในการค้นคว้าวิจัย จนได้ยารักษาโรค
กลุ่มใหม่จากชีวโมเลกุลที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก ส่วนผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี
ก็เป็นแบบฉบับของการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการดูแลรักษาและการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งใช้เป็น

/มาตรฐาน…

– ๓ –

มาตรฐานอยู่ในปัจจุบัน จึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งสองได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
ประจำปีนี้ และเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ผลงานจากความพากเพียรและความทุ่มเทเสียสละของท่านทั้งสอง
เป็นการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ของการแพทย์และการสาธารณสุข ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาล
แก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๒๓.๒๗ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร