ความเป็นมา
ปัจจุบันบริเวณชุมชนสองข้างทางของถนนวิภาวดีรังสิต ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีอาคารขนาดใหญ่ สถานที่ราชการ บริษัท ห้างร้านเอกชน จำนวนมาก ทำให้ระบบระบายน้ำที่ออกแบบไว้เดิมไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบันได้ อีกทั้งการบริหารจัดการน้ำถนนวิภาวดีรังสิตที่เป็นระบบปิด จำเป็นต้องใช้สถานีสูบน้ำที่อยู่ในรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ผลักดันน้ำออกจากถนนเข้าสู่ระบบจัดการน้ำของ กทม. อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดฝนตกอย่างหนัก หรือมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ เช่น มากกว่า 100 มิลลิเมตรขึ้นไปจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังฉับพลัน และมีผลกระทบต่อการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต


แผนการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดี รังสิต
เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนวิภาวดีรังสิต กรมทางหลวงจึงได้จัดเตรียมแผนแม่บทโครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ต่อเนื่องถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. งานเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ คู คลอง ริมถนนวิภาวดีรังสิต
- งานขยายขนาดท่อ ช่องระบายน้ำจากท่อกลมเป็นท่อเหลี่ยม
2. งานเชื่อมโยงระบบระบายน้ำสองข้างทาง ถนนวิภาวดีรังสิต
- งานดันท่อลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต
- งานลอกท่อ ดูดเลน
- งานก่อสร้างรางระบายน้ำคอนกรีตและอาคารระบายน้ำขนาดใหญ่ทดแทนคูน้ำธรรมชาติ
3. พัฒนาระบบการระบายน้ำและปรับภูมิทัศน์ริมถนนวิภาวดีรังสิต อย่างยั่งยืน
- งานก่อสร้างอาคารระบายน้ำขนาดใหญ่ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์
- งานปรับปรุงขยายท่อระบายน้ำ
งานเชื่อมโยงระบบระบายน้ำสองข้างทางถนนวิภาวดีรังสิต งานดันท่อลอด จำนวน 9 แห่ง มีรายละเอียด ดังนี้
จุดที่ 1 กม.8+725 บริเวณก่อนข้ามคลองบางซื่อ
จุดที่ 2 กม.8+825 บริเวณหน้าสำนักงาน กลต.
จุดที่ 3 กม.10+585 – กม.10+685 บริเวณห้าแยกลาดพร้าว
จุดที่ 4 กม.12+190 (ขาออก) และ กม.12+160 (ขาเข้า) บริเวณหน้าตรีเพชรอีซูซุ
จุดที่ 5 กม.13+930 บริเวณหน้าสถานีดับเพลิงลาดยาว
จุดที่ 6 กม.14+700 – กม.14+765 บริเวณแยกบางเขน
จุดที่ 7 กม.15+160 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จุดที่ 8 กม.21+930 บริเวณประตู 8 ของสนามบินดอนเมือง
จุดที่ 9 กม.27+800 บริเวณอนุสรณ์สถาน