พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกมูลนิธิ ราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ ฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสครบ 60 ปี วันพระราชทานกำเนิด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2566

          วันที่  23  สิงหาคม  2566 เวลา 18.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เฝ้าทูลละะอองธุลีพระบาท ทูลเกล้ทูลกระหม่อมถวายเข็มเครื่องหมายมูลนิธิ ฯ (ทองคำ) เหรียญทองคำที่ระลึก และหนังสือ
ที่ระลึก  เนื่องในโอกาสครบ 60 ปี วันพระราชทานกำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 23 สิงหาคม 2566
          ในโอกาสนี้ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเข็มเครื่องหมายกรรมการบริหาร เข็มเครื่องหมายกรรมการจังหวัด
เข็มเครื่องหมายมูลนิธิ ฯ และโล่เชิดชูเกียรติ ด้วย

          มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 จากเหตุการณ์วาตภัยพายุโซนร้อนแฮเรียต ที่พัดเข้าทางพื้นที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ความแรงของพายุทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนของประชาชน  และประชาชนจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย ได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถานีวิทยุ อ.ส. ออกประกาศเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว และพระราชทานเงินแก่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสร้างโรงเรียนประชาบาล จำนวน 12 โรงเรียนในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีสถานที่ศึกษา  และพระราชทานชื่อในภายหลังว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข 1 ถึง 12 ตามลำดับ เมื่อได้นำเงินบริจาคช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกแล้ว  ยังคงเหลือเงินอีก 3 ล้านบาท   พระบาทสมเด็จพระบรม
ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงพระราชทานเงินดังกล่าวเป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจดทะเบียน
เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2506  โดยชื่อพระราชทานของมูลนิธิ ฯ มีความหมายว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน
          ต่อมาเมื่อปี 2560  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทรงรับมูลนิธิ ฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์  และทรงดำรงตำแหน่ง “พระบรม
ราชูปถัมภก” แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และพระราชทานแนวทางการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นระบบ รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน  โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิ ฯ เชิญสิ่งของและเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทาน ไปมอบแก่ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นมาอย่างต่อเนื่อง
          สำหรับในปี 2566 มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริครบ 60 ปี โดยสามารถช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 5,167,673
ครอบครัว และช่วยเหลือ ประชาชนกว่า 18,651,720 คน ในด้านการศึกษา  ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 9 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ  เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เพิ่มเติม ทรงให้การสนับสนุนกิจการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้ง 67 โรงเรียน  พระราชทานโอกาสทางการศึกษาสูงสุดตามความสามารถของนักเรียน  
โดยไม่มีข้อผูกมัดแก่เด็กกำพร้าที่สูญเสียบิดาและมารดา หรือขาดผู้อุปการะจากสาธารณภัย  รวมถึงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  โดยทรงรับเป็นนักเรียนทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนกว่า 4,787 คน

ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมอื่นๆ