๒ ทศวรรษ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2566

     โขน ซึ่งเป็นมหรสพเก่าแก่ของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการแสดงที่ใช้ในพระราชพิธีมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน การแสดงโขนแสดงเรื่องรามเกียรติ์ โดยได้เค้าโครงเรื่องมาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย เป็นเนื้อเรื่องเป็นการทำสงครามระหว่างกองทัพพระรามและทศกัณฐ์ ซึ่งเนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและตัวละครมากมายและใช้เป็นคติเตือนใจในการปกครองการประพฤติตนของประชาชนในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและกล้าหาญ

     พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ทรงได้ทำนุบำรุงศิลปะการแสดงโขนและทรงพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สำหรับจัดการแสดงตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บางตอน ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ บทพระราชนิพนธ์โขนในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การแสดงโขนยังเป็นการแสดงสำคัญในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะทุกครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โขนพระราชทาน
โขนพระราชทาน
โขนพระราชทาน

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงทั้งงานด้านศิลปาชีพและศิลปะการแสดง ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยต่อศิลปะการแสดงโขนที่นับวันประชาชนและเยาวชนไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไปตามสังคมโลก จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ ในการอนุรักษ์และการพัฒนาการแสดงโขน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยทรงให้ศึกษาการแต่งหน้าโขนให้มี ความงดงามเป็นเอกลักษณ์ และการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้ประณีตงดงามตามแบบโบราณ เพื่อเป็นการรักษาฝีมือเชิงช่างทั้งงานพัสตราภรณ์ การปักสดึงกรึงไหม งานถนิมพิมพาภรณ์เครื่องประดับโดยช่างเงินช่างทอง งานศิราภรณ์ การสร้างเครื่องประดับศีรษะ หัวโขน ให้ประณีตงดงามและให้พัฒนาการแสดงโขนให้ทันสมัยเหมาะสมกับสังคม ยุคใหม่ จึงทำให้เกิดมีการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯตามพระราชเสาวนีย์ ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยแสดงโขน ชุดพรหมาศ เป็นปฐมทัศน์ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก

โขนพระราชทาน
โขนพระราชทาน

     ใน พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้มีประชาชนเรียกร้องให้มีการแสดงโขนขึ้นอีก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้คณะกรรมการศึกษาพัฒนาการแสดงโขนให้งดงามยิ่งขึ้น และปรับปรุงการแสดงให้เหมาะสมกับยุคสมัยจึงได้มีการแสดงโขนเต็มรูปแบบขึ้นใหม่
     ใน พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงมีการแสดงโขนในชุดพรหมาศอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๕ – ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ปรับปรุงให้เป็นการแสดงโขนโดยใช้วงปี่พาทย์แบบการแสดงโขนตามประเพณี และสร้างฉากเครื่องแต่งกายเพิ่มเติมใหม่ การแสดงครั้งนี้มีประชาชนเข้าชมจำนวนมาก
     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลาบปลื้ม พระราชหฤทัยที่การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทยที่คนหนุ่มสาวและเด็ก ๆ จำนวนมากมีความสนใจชมโขนและยังพากันจูงผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวไปชมโขนกันอย่างเนืองแน่น เป็นภาพที่น่าชื่นใจ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องทุกปี จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในระยะแรกว่า “โขนพระราชทาน” ต่อมาจึงใช้ชื่อว่า “โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” โดยจัดการแสดง ชุดต่าง ๆ นับแต่รอบปฐมทัศน์ดังนี้

     • พุทธศักราช ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๒ จัดการแสดงตอน พรหมาศ

     • พุทธศักราช ๒๕๕๓ จัดการแสดงตอน นางลอย

     • พุทธศักราช ๒๕๕๔ จัดการแสดงตอน ศึกไมยราพ

     • พุทธศักราช ๒๕๕๕ จัดการแสดงตอน จองถนน

     • พุทธศักราช ๒๕๕๖ จัดการแสดงชุด ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์

     • พุทธศักราช ๒๕๕๗ จัดการแสดงชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ

     • พุทธศักราช ๒๕๕๘ จัดการแสดงชุดมังกรกัณฐ์ และพรหมาศ

     • ในพุทธศักราช ๒๕๕๙ งดจัดการแสดง ด้วยเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต คนไทยทั้งประเทศอยู่ในช่วงการไว้ทุกข์

     • พุทธศักราช ๒๕๖๐ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ร่วมแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ในตอนรามาวตาร และขับพิเภก

     • พุทธศักราช ๒๕๖๑ จัดการแสดงตอน พิเภกสวามิภักดิ์

      • พุทธศักราช ๒๕๖๒ จัดการแสดงตอน สืบมรรคา

     • พุทธศักราช ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ งดการแสดงด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

     • พุทธศักราช ๒๕๖๕ จัดการแสดงตอน สะกดทัพ


๒ ทศวรรษ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง

     วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขน รอบปฐมทัศน์ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

๒ ทศวรรษ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง

     วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

     • และในพุทธศักราช ๒๕๖๖ จัดการแสดงตอน กุมภกรรณทดน้ำ กำหนดจัดการแสดงในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๖๖

๒ ทศวรรษ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง

เรื่องย่อ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ

     กุมภกรรณพระอนุชาของทศกัณฐ์ ได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้ยกกองทัพไปรบกับกองทัพพระราม พระรามจึงให้พระลักษมณ์ยกออกมารบ กุมภกรรณพุ่งหอกโมกขศักดิ์สังหารพระลักษณ์ มีชัยกลับมากรุงลงกา
     ทศกัณฐ์มีความปลาบปลื้มพระทัยนัก แต่สองสารัณทูตได้เข้ามาทูลว่าพระลักษมณ์ ได้ฟื้นคืนชีพแล้วหอกโมกขศักดิ์ไม่สามารถทำอันตรายได้เพราะพิเภกบอกวิธีแก้ กุมภกรรณจึงรับอาสาไปทำกลศึก โดยการไปนอนทดน้ำให้แม่น้ำเหือดแห้งทำให้กองทัพพระรามอดน้ำตาย ทศกัณฐ์จึงสั่งให้กุมภกรรณรีบไปดำเนินการตามอุบายที่คิดไว้
     กุมกรรณจึงกลับตำหนักไปสั่งนางคันธมาลีมเหสี และนางกำนัลทั้งสี่ ให้เก็บดอกไม้เครื่องหอมไปบูชาที่กุมกรรณทำพิธีทดน้ำทุกวันมิให้ขาด และปกปิดความลับห้ามมิให้ใครรู้ กุมกรรณจึงไปทำพิธีใต้ต้นกร่างใหญ่ริมแม่น้ำ นิมิตกายลงใต้น้ำทำพิธีทดน้ำมิให้ไหลไปกองทัพพระราม

     รุ่งเช้าทหารวานรออกไปตักน้ำมาใช้ในกองทัพ พบว่าแม่น้ำเหือดแห้งไม่มีน้ำในการใช้เลี้ยงกองทัพจึงนำความมากราบทูลพระราม พระรามจึงปรึกษาพิเภก พิเภกทูลว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากกุมกรรณไปทำพิธีทดน้ำ แต่พิเภกไม่อาจบอกสถานที่ได้ ขอให้พระรามใช้ทหารที่มีความสามารถไปทำลายพิธีกุมกรรณ พระรามจึงใช้หนุมานออกไปสืบหาและทำลายพิธี
     หนุมานแปลงกายเป็นเหยี่ยวใหญ่บินไปสืบความลับในกรุงลงกา เห็นนางคันธมาลีและนางกำนัลออกไปเก็บดอกไม้ทุกวัน หนุมานจึงสังหารนางกำนัลและแปลงกายเป็นนางกำนัลตามไปจนถึงริมฝั่งน้ำ และเห็นที่ทำพิธีของกุมภกรรณ หนุมานจึงดำน้ำลงไปทำลายพิธีและเข้ารบกับกุมภกรรณ

     รุ่งเช้ากุมภกรรณตรวจพลยกกองทัพออกไปรบกับพระราม พระรามยิงรถกุมภกรรณหัก กุมภกรรณจึงเข้าไปหักรถพระรามจนถูกพระรามตีตกรถ พระรามแผลงศรสังหารกุมภกรรณ ขณะที่กุมภกรรณต้องศรได้เห็นพระรามเป็นพระนารายณ์ จึงสำนึกผิดทูลขอขมาแก่พระราม และฝากฝังพิเภกไว้กับพระราม พระรามจึงยกโทษ และให้พรกุมภกรรณไปเกิดในสวรรค์