พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการในพระราชดำริฝนหลวง โดยให้คิดถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้ผ่านพ้นจากวิกฤตภัยแล้ง มีน้ำกินน้ำใช้ และทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2566
     ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาฝนหลวง

     พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีแนวพระราชดำริที่จะช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาทุกข์ร้อนจากทั้งปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง ทรงมั่นพระทัยว่า น่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมด และให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นจุดเริ่มต้นในการประดิษฐ์คิดค้น และปฏิบัติการค้นคว้าทดลองในท้องฟ้าจนเกิด “เทคโนโลยีฝนหลวง ทรงบันทึกไว้ใน The Rainmaking Story ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการฝนเทียมและได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการฝนหลวง” ในปัจจุบัน จึงเป็นวันสำคัญที่ควรจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

     เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการในพระราชดำริฝนหลวง พระราชทานพระราชกระแส แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า “…ปีนี้แล้ง และจะมีแนวโน้มที่จะแล้งและฝนตกน้อย ให้คิดถึงภัยแล้งไว้ด้วยเป็นเรื่องสำคัญ”

     พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ได้ติดตามและขับเคลื่อนการปฏิบัติการฝนหลวง ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนองพระราชกระแสให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีภารกิจปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและสถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศ และได้ติดตามความก้าวหน้าของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ อันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการในพระราชดำริฝนหลวง ที่ทรงห่วงใยราษฎรและให้คิดถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญ


ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมอื่นๆ