โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

ประวัติโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

พระมหากรุณาธิคุณเกื้อหนุนงานศิลปวัฒนธรรมไทย
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

     พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานและแนวพระราชดำริต่างๆ ของ สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี มาอย่างต่อเนื่อง ทรงมีพระราชอุตสาหะ อุปถัมภ์ดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ เนื่องด้วยพระองค์ทรงโปรดงานศิลปะมาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อขณะทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางเขียนภาพ การปั้น และการนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย คือ การแสดงโขน ดังปรากฏใน หนังสือเรื่อง สี่เจ้าฟ้า ความตอนหนึ่งว่า

     “…สมเด็จพระบรมชนกนาถก็จะทรงสอนให้ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงหัดเขียนภาพสีน้ำมัน ทูลกระหม่อมฟ้าชายโปรดเขียนรูปและปั้นดินน้ำมัน ทรงปั้นรูปรถยนต์ เรือรบ ได้เหมือนของจริงมาก เวลานี้ทรงหัดเขียนรูปสีน้ำมัน ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องใช้จาก สมเด็จพระบรมชนกนาถ…ความที่ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงมี “พระปรีชา” ในทางเขียนภาพ จะเห็นได้จากภาพต่างๆ ซึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ตั้งแต่พระชันษาเพียง ๗ ปี พอเริ่มทรงพระอักษรได้ก็โปรดเขียนการ์ตูน… ทูลกระหม่อม ฟ้าชายวชิราลงกรณฯ ทรงแสดงโขนเป็นตัวทศกัณฐ์ เพราะมีพระวรกายสูงใหญ่และทรงมีพระอิริยาบถร่าเริง จึงเหมาะที่จะทรงเล่นเป็นตัวทศกัณฐ์ ทรงรำและทำท่าทางได้แข็งขันสวยงามเป็นที่ชื่นชมของผู้มาชมการแสดงในวันนั้น…”

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

     งานศิลปวัฒนธรรมไทยสามารถธำรงและสืบทอดถึงปัจจุบันได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระมหากษัตริย์ ทรงตั้งพระราชปณิธานในอันที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและสืบทอดวิถีศิลปกรรมไทยแบบประเพณี ซึ่งปรากฏลักษณะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในงานศิลปกรรมภายในวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร หรือวัดทุ่งสาธิต วัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งสร้างขึ้นประมาณพุทธศักราช ๒๓๙๙ และไม่มีผู้ใดสืบสานต่อจนกลายเป็นวัดร้าง มีแต่กองอิฐและซากปรักหักพังจนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ ภายในระยะเวลาสองปีได้ปรากฏผลเป็นศาสนสถานที่มีศิลปสถาปัตยกรรมที่งดงาม สงบ ร่มรื่นยังประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่
     ด้วยพระปรีชาสามารถด้านงานศิลป์ และน้ำพระทัยที่มีพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ ในวาระโอกาสต่างๆ มากมาย เพื่อสื่อถึง ธรรมะ ความดีงาม ความสุข ความหวัง ความอบอุ่น ความรัก ความสามัคคี หรือภาพเขียนที่เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ เป็นต้น

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ขึ้น เพื่อพระราชทานแก่ผู้มาร่วมพิธี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพวาดฝี พระหัตถ์ อันสื่อให้เห็นถึง สายสัมพันธ์ สายใยรักในครอบครัวและพสกนิกรของพระองค์ ลงบนหน้าปกหนังสือ

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพวาดการ์ตูนฝีพระหัตถ์เกษตรทฤษฎีใหม่แบบประยุกต์ (โคก หนอง นา) ที่ทรงวาดเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ เพื่อให้เป็นแบบอย่างในการน้อมนำพระราชดำริ ไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและเผยแพร่โครงการฯ ให้ประชาชนต่อไป
     พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเกื้อหนุนงานศิลปวัฒนธรรมไทยนี้ ยังความปลื้มปีติแก่ พสกนิกร ชาวไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในการศึกษางานศิลปะเป็นอย่างยิ่ง โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย)จึงได้ดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาท น้อมนำพระราชจริยาวัตรที่ทรงใฝ่พระทัยในการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านงานช่างศิลปกรรมไทย หรือ งานช่างสิบหมู่ ให้มีการสืบสานไม่ให้สูญหาย และพัฒนาต่อยอดสืบไป

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
คำขวัญโรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย)
“งานช่างเด่น เน้นศิลป์ไทย ใฝ่คุณธรรม”
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

     ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็น อเนกประการ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกใน พระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ก่อกำเนิดโรงเรียนฯ

     สืบเนื่องจากวาระเฉลิมฉลอง ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๕๒๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันประกอบด้วย พระมหาปราสาทราชมณเฑียร ตลอดจนเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ซึ่งล้วนต้องใช้ฝีมือช่างสิบหมู่ทั้งสิ้น แต่ขาดแคลนผู้มีความรู้ความชำนาญในวิชาช่าง จึงทรงมีพระราชดำริว่า หากไม่ถ่ายทอดวิชาช่างสิบหมู่ให้แก่คนรุ่นหลัง ย่อมยากจะรักษาศิลปวัฒนธรรม ที่มีคุณค่ายิ่งของชาติไทยไว้ได้ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า  “งานช่างศิลป์ไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ เพราะศิลปะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนในชาติที่สืบทอดกันมายาวนาน จนเป็นเอกลักษณ์

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

ภาพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิด โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย)

     ด้วยเหตุสำคัญนี้จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะอนุรักษ์และเผยแพร่วิชาความรู้ ให้กว้างขวางออกสู่ประชาชนทั่วไป ทรงเห็นสมควรจัดให้มีการเรียนรู้ และฝึกอบรมงานช่างฝีมือต่าง ๆ จนสามารถนำมาใช้ในงานอนุรักษ์ศิลปะโบราณวัตถุได้โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน สำนักพระราชวังและกระทรวงศึกษาธิการ จึงรับสนองพระราชดำริจัดตั้ง โรงเรียนผู้ใหญ่พระตำหนักสวนกุหลาบ วิทยาลัยในวัง(ชาย) ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และเริ่มทำการเรียนการสอน ใน พ.ศ.๒๕๓๒ ภายหลังได้รับพระราชทานนามใหม่คือ “ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย) ”
     พระองค์ ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารหออุเทสทักสินา ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อใช้เป็นอาคารเรียน ในพ.ศ.๒๕๓๑ ระยะแรกรับนักเรียนชาย บุตรหลานของข้าราชบริพารมาฝึกอบรม ปัจจุบันรับทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง อีกทั้งยังทรงพระเมตตาพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนการดำเนินงาน และ ทรงใส่พระทัยติดตามการดำเนินงาน เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียน ที่จบหลักสูตรเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๒ เป็นต้นมา

หลักสูตรและการเรียนการสอน

     โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) เปิดรับสมัครนักเรียน เพื่อสอบคัดเลือกเข้าศึกษา หลักสูตรระยะสั้น ใช้เวลาเรียน ๑ ปีการศึกษา แบ่งเป็น ๒ เทอม รายวิชาที่ได้เรียน

      ๑. สาขาวิชาบังคับ ๑ สาขา
      ๒. วิชาเสริมพื้นฐาน ๓ วิชา
      ๓. วิชาเลือกเสรี ๑ วิชา
      ๔. วิชาเสริมบังคับ ๑ วิชา

โครงสร้างหลักสูตร

     ๑.สาขาวิชาบังคับ จำนวน ๑,๐๔๐ ชั่วโมง เลือกเรียน ๑ แผนก
       ๑. ช่างฝีมืองานเขียน
       ๒. ช่างฝีมืองานหัวโขน
       ๓. ช่างฝีมืองานแกะสลัก
       ๔. ช่างฝีมืองานปั้น
       ๕. ช่างฝีมืองานประดับมุก
       ๖. ช่างฝีมืองานลายรดน้ำ

     ๒.วิชาเสริมพื้นฐาน ๓ วิชา
       ๑.วิชาวาดเส้นพื้นฐาน
       ๒.วิชาองค์ประกอบศิลป์
       ๓.วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์

     ๓.วิชาเลือกเสรี เลือกเรียนได้ ๑ วิชา
       ๑.วิชาลงรักปิดทอง
       ๒.วิชาแทงหยวก
       ๓.วิชาคอมพิวเตอร์เพื่องานศิลปะไทย
     ๔. วิชาเสริมบังคับ ๑ วิชา
        – วิชาดนตรีในพิธีหลวง

คุณสมบัติของผู้สมัครเรียน

     ๑. มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม
     ๒. ไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือต้องโทษในคดีใดๆ
     ๓. ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือมีโรคติดต่อร้ายแรง
     ๔. สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม.๓ หรือเทียบเท่า หรือมีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป
     ๕. มีความสนใจในด้านศิลปะไทย

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
สถานที่ตั้ง โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย)

     อาคารหออุเทสทักสินา ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ ๐๒-๒๒๑ ๑๘๕๖, ๐๒-๒๒๔ ๓๓๐๘ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับทราบข่าวการรับสมัครได้ตามช่องทางนี้

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)

APP : LINE

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)