พระราโชวาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2565 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดี ที่ 5 ตุลาคม 2566

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2566

พระราโชวาท
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประจำปีการศึกษา 2565
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพฤหัสบดี ที่ 5 ตุลาคม 2566

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕. ขอแสดงความยินดีชื่นชมต่อบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยยกย่องให้ปริญญากิตติมศักดิ์. ทั้งขอขอบใจมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ที่มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชากายภาพบำบัด แก่ข้าพเจ้า.
คำว่า อิสระทางความคิด ต้องมีอิสระทางความคิด เป็นที่นิยมใช้กันหลายวงการ จนเข้าใจกันไปว่า ไม่ต้องฟังความคิดผู้อื่น ถือความคิดของตนเป็นใหญ่. จริงอยู่ คำว่า อิสระ แปลว่า เป็นใหญ่ เป็นไทแก่ตัว ไม่ขึ้นแก่ใคร ๆ แต่ความเป็นใหญ่ทางความคิด ไม่สามารถเกิดขึ้นลอย ๆ ได้. ความคิดอ่านต้องมีพื้นฐานของความรู้ความคิดรอบด้าน. จะเป็นใหญ่ทางความคิดได้ ต้องอาศัยการสะสมความรู้ กลั่นกรองไตร่ตรองให้ถูกต้องแจ่มชัด จึงจะสามารถเป็นใหญ่ทางความคิดนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวมได้. เช่นนี้จึงนับว่าเป็นใหญ่เหนือความคิด บังคับบัญชาความคิดได้. การดื้อดึงถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ที่ไม่มีรากฐาน ไม่ฟังความคิดผู้อื่น ไม่หาความรู้เพื่อตรวจสอบว่าคิดถูกต้องสมควรเป็นประโยชน์หรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นทาสของความคิด ถูกความคิดอันไม่ได้ไตร่ตรองให้ถูกต้องครอบงำ. เมื่อนำไปใช้จึงเกิดความเสียหายเดือดร้อน อาจจะรุนแรงถึงเป็นภัยฆ่าฟันกัน.
บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้เล่าเรียนมาก จึงเป็นความหวังของบ้านเมืองว่า จะได้รู้จักใช้ความคิด รู้จักไตร่ตรอง ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักเสาะแสวงหาความรู้มาพิจารณาให้ทราบตระหนักว่า ความคิดอ่านของตนถูกต้อง เป็นประโยชน์รอบด้าน เป็นคุณต่อบ้านเมือง.
ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออำนวยพรให้บัณฑิตทั้งหลาย เป็นผู้มีอิสระทางความคิดอย่างถูกต้อง สามารถทำคุณประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติ เชิดชูจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นสถาบันที่ทรงคุณค่าสืบไป และขอให้ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ จงประสบสุขสวัสดีจงทั่วกัน.