วันพฤหัสบดี ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ.2566

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพฤหัสบดี ที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

วันนี้ เวลา ๐๙.๒๒ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองพระบาท ตามลำดับดังนี้
– นายพฤฒิไกร ไกรพิพัฒน์ ประธานกรรมการมูลนิธิ “ไกรพิพัฒน์” เพื่อการศึกษา นำ คณะผู้บริหารโครงการเดิน – วิ่งการกุศล มินิมาราธอน ๒๕๖๒ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดการแข่งขันดังกล่าว สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา
– รองศาสตราจารย์สุปรียา ควรเดชะคุปต์ พร้อมครอบครัว เฝ้าทูลละอองพระบาท
ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการทำงานหลังเกษียณอายุราชการ โดยเสด็จพระราชกุศล
ตามพระราชอัธยาศัย
– นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำ ผู้บริหารราชบัณฑิตยสภา และคณะกรรมการบริหารอินเตอร์แนชันนัล ยูเนียน ออฟ อะคาเดมีส์ เฝ้าทูลละอองพระบาท ในโอกาสที่จะเดินทางมาประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรปราชญ์ระหว่างประเทศ ในฐานะแขกของราชบัณฑิตยสภา
เวลา ๑๖.๑๙ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ ดังนี้
สาขาการแพทย์
– ศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีผลงานจากการศึกษากลไก
การเกิดโรคเบาหวาน และพิสูจน์ได้ว่าโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุล
ที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ รวมถึงพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้
มีการดูดน้ำตาลกลับที่ไตเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางขนส่งร่วมระหว่างเกลือโซเดียมและน้ำตาลกลูโคส จากผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้ยาเมทฟอร์มิน (metformin) และยาในกลุ่มที่ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลผ่านช่องทางขนส่งร่วมที่ไต เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายให้ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) โดยพิจารณาเลือกยาตามกลไก
การเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละรายและศึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดน้ำหนักเพื่อทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ซึ่งแนวคิดและผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการนำไปใช้ในการศึกษาต่อยอด และเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ อย่างแพร่หลายทั่วโลก ผลงานการศึกษาของศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ซึ่งได้เชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านกลไกการเกิดโรค ได้ถูกนำไปพัฒนาและ

/ ศึกษา …
– ๒ –

ศึกษาต่อยอดจนเกิดแนวทางในการรักษาและป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังลดลงทั่วโลก ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตผู้ป่วยเบาหวานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
สาขาการสาธารณสุข
– นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
– ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ นักวิจัยดีเด่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และรองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
– ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์
เครือรัฐออสเตรเลีย
นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี และ ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (HPV) สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ได้ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย
การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากอนุภาคคล้ายไวรัสเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และสามารถนำเสนอลักษณะทางแอนติเจนที่เป็นธรรมชาติต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ผลงานดังกล่าวเป็นงานต่อยอดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น
จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๘ และรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๕๑ ซึ่งค้นพบเชื้อฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ที่เป็นสาเหตุ
ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส และลดการเสียชีวิตได้จำนวนมากทั่วโลก
เนื่องจากศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ไม่สามารถมาเฝ้าทูลละอองพระบาท
รับพระราชทานรางวัลได้ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตเบิกผู้แทน คือ นางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลแทน
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า ในการดูแลสุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาตินั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนในบางโรค มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาโรคโดยตรง ดังเช่นผลงานของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ที่ได้ศึกษาพยาธิสรีรวิทยาโรคเบาหวาน ชนิดที่ ๒ จนสามารถรักษาและควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กับผลงานของ นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ อันเป็นงานที่ต่อยอดจากผลงานของ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

/ สาขา …
– ๓ –

สาขาการสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๘ จากการค้นพบเชื้อไวรัสฮิวแมนแปบปิลโลมา หรือเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุ
ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้ได้สำเร็จ และได้นำไปใช้อย่างกว้างขวาง
ทั่วโลกในปัจจุบัน จึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง ที่ทั้งสี่ท่าน ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ ทั้งเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ผลงานอันเกิดจากความวิริยอุตสาหะและเสียสละอดทนของทุกท่านทั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ให้แก่การแพทย์และการสาธารณสุขของโลก ก่อให้เกิดประโยชน์
อันไพศาลแก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
เวลา ๑๗.๒๒ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ และคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ในวันเดียวกันนี้ เวลา ๑๒.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงบรรยาย หัวข้อ “การควบคุมการเพิ่มจำนวน
ของเซลล์และการเกิดเซลล์ตาย และเมแทบอลิซึมของเซลล์มะเร็ง” (Control of Cell Proliferation and Cell
Death, and Tumor Cell Metabolism) และหัวข้อ “กลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็งในระดับโมเลกุล
และระดับเซลล์ : กุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต (Molecular and Cellular Mechanisms of Cancer Pathogenesis : Keys to Future Therapy) พระราชทานแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชา
วิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ : อนามัยสิ่งแวดล้อม (Applied Biological Sciences : Environmental Health) และสาขาวิชาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental Toxicology) ในหลักสูตรหลักการทางพิษวิทยา (Principles of Toxicology) ณ อาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร