วันเสาร์ ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2567

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2567
ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันเสาร์  ที่  ๒๓  มีนาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๗
วันนี้ เวลา ๑๕.๐๑ น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  ไปประทับเฮลิคอปเตอร์
พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์นครไชยบวร ณ วัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาส
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และทรงเปิดสนามจักรยาน
“สราญจิตมงคลสุข” ณ บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ ฯ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว สนามกีฬาโรงเรียนพิบูลธรรมเวทวิทยา อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร  นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๖
แม่ทัพภาคที่ ๓ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๖ พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
รับเสด็จ แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร
เวลา ๑๖.๒๘ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน)  เสด็จเข้าอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชา พระประธานอุโบสถ ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงาน
และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์นครไชยบวร
พร้อมทั้งทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ ฯ  ต่อจากนั้น เสด็จออกจากอุโบสถไปยังแท่นพิธี  ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิด
แพรคลุมป้าย “พิพิธภัณฑ์นครไชยบวร” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์
แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าอุโบสถ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก
พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากอุโบสถ ไปทอดพระเนตรภายในพิพิธภัณฑ์ ฯ ชั้น ๑ ซึ่งจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่พบในเมือง
นครไชยบวร ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาณาจักรทวาราวดี อาณาจักรยางหรือโยนก อาณาจักรโคตรบูรณ์
อาณาจักรทวารวดีถึงปัจจุบัน อาทิ พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ถ้วยชาม
สังคโลกและกระปุกมีหูสมัยสุโขทัย  ตุ๊กตาดินเผา เครื่องพิมพ์ลายผ้าและเครื่องปั่นด้ายดินเผา ต่อจากนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นชั้น ๒ ของพิพิธภัณฑ์ ฯ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธหิรัญมารวิชัย (หลวงพ่อทอง)  พระประธานอุโบสถ
หลังเก่า และรูปเหมือนหลวงพ่อเงิน อดีตเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน)  แล้วพระราชทานพระบรม
ราชวโรกาสให้ พระครูพิสุทธิวรากร (วิทยา คุณวโร) เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) เฝ้า ถวายพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ปางห้ามสมุทร และถวายรูปหล่อหลวงพ่อเงิน เนื้อทองคำ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี  จากนั้น  เสด็จออกจากพิพิธภัณฑ์ ฯ  ทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งของและผลิตภัณฑ์ชุมชนจากประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ  สมควรแก่เวลา
/จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง …
– ๒ –
จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว สนามกีฬาโรงเรียนพิบูลธรรมเวทวิทยา อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว สนามกีฬาโรงเรียนสระหลวงพิทยาคม อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร  แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง
เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล
เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗  อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
พิพิธภัณฑ์นครไชยบวร  เป็นอาคารรูปมณฑป ๒ ชั้น จัดสร้างโดยพระครูพิบูลธรรมเวท
(หลวงพ่อเปรื่อง) ร่วมกับชาวบ้านตำบลบางคลาน ตำบลบ้านน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เพื่อประดิษฐาน
รูปเหมือนหลวงพ่อเงิน ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือ โดยได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุโขทัย ในการดำเนินการจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่พบในเมืองนครไชยบวร
เมืองของพระยาโคตระบองเทวราช เมื่อราวปีพุทธศักราช ๑๔๐๐ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาณาจักรยาง
หรือโยนก อาณาจักรโคตรบูรณ์ อาณาจักรทวารวดีถึงปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนที่สนใจ ได้ศึกษา
ถึงประวัติความเป็นมาของจังหวัดพิจิตร
เวลา ๑๗.๕๓ น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ ฯ  อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร  เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ เสร็จแล้ว พระราชทาน
พระบรมราชวโรกาสให้ นายอดิเทพ กมลเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงาน และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดป้าย “โครงการพัฒนา
บึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” พร้อมกับขอพระราชทานทรงเปิดสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข”  จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปยังแท่นพิธี  ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” พร้อมกับทรงเปิด
สนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข”  พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์  เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก
พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ
ทรงลาพระสงฆ์  แล้วเสด็จออกจากพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ
พระบรมราชินี  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกต้นบุนนาค  ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพิจิตร  และทรงรับ
การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งของและผลิตภัณฑ์ชุมชนจากประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ  เสร็จแล้ว  ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข”
เวลา ๑๘.๑๙ น.   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินถึงสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร พลเอก เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการสมาคม ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
รับเสด็จ  ต่อจากนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์
ชุดทรงจักรยาน เสด็จพระราชดำเนินไปยังลู่ปั่นจักรยาน  ทรงบีบแตรสัญญาณปล่อยจักรยานในสนามจักรยาน
/เป็นปฐมฤกษ์ …
– ๓ –
เป็นปฐมฤกษ์  แล้วทรงจักรยานร่วมกับคณะกรรมการโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ ฯ ข้าราชการ
และประชาชนจังหวัดพิจิตร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ด้วยระยะทาง ๑ รอบสนาม หรือ ๑๐.๒๘ กิโลเมตร
เสร็จแล้ว  เสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาพิธี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกสมาคมกีฬาจักรยาน
แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กราบบังคมทูลรายงาน และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ (BMX)  ซึ่งมีจุดสตาร์ทของสนามที่ระดับความสูง ๕ เมตร ทรงจักรยานผ่านลูกระนาดในระดับที่ต่างกันแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและทรงมีพระวรกายที่แข็งแรง
ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ด้วยความสนพระราชหฤทัย  ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรการสาธิตการปั่นจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ประเภทชาย และประเภทหญิง  แล้วเสด็จออกจากพลับพลาพิธี  เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการสาธิตการปั่นจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็ก
โดยเด็กผู้ชนะเลิศการแข่งขันระดับประเทศ ร่วมกับเด็กในพื้นที่จังหวัดพิจิตร จำนวน ๒๒ คน ทำการสาธิต
การปั่นจักรยานแบบพี่นำน้อง ณ สนามจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็ก (Balance Bike)  ซึ่งมีความปลอดภัยสูง
เหมาะสำหรับเด็กอายุระหว่าง ๑ – ๖ ปี สามารถขึ้นลงเนินได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีทางเรียบสำหรับ
เด็กที่ยังขาดความมั่นใจการขี่จักรยานเพื่อฝึกฝนเบื้องต้นด้วย ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี  เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามปั๊มแทร็ก (Pumptrack) ซึ่งเป็นสนาม
ที่สามารถรองรับกีฬาได้หลากหลายชนิด เช่น จักรยาน และสเก็ตบอร์ด  เพื่อใช้ฝึกทักษะต่อยอดกีฬาในระดับที่สูงขึ้น
ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ขณะทรงจักรยาน
ที่สนามปั๊มแทร็ก พร้อมกับทรงปรบพระหัตถ์พระราชทานกำลังพระราชหฤทัยให้แก่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ
พระบรมราชินี ด้วย  สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว สนามกีฬาโรงเรียนสระหลวงพิทยาคม อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน  มีประชาชนจังหวัดพิจิตรและพื้นที่ใกล้เคียง
มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ต่างโบกธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธี
มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗  ธงพระนามาภิไธย สท  และธงชาติไทย
พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญอย่างกึกก้องด้วยความจงรักภักดี
บึงสีไฟ  มีพื้นที่ ๕,๓๙๐ ไร่ เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ทรงเห็นว่าเมืองพิจิตรเป็นพื้นที่ลุ่ม
ซึ่งเต็มไปด้วยลุ่มน้ำ ลำคลอง โดยเฉพาะบึงสีไฟ ที่มีน้ำตลอดปี จึงเรียกเมืองพิจิตรว่า “โอฆบุรี” ซึ่งแปลว่า
ห้วงน้ำ  ในปัจจุบันยังคงเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สำคัญเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร การประมง
และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
จังหวัดพิจิตร ร่วมกับส่วนราชการ พสกนิกรชาวจังหวัดพิจิตรทุกหมู่เหล่า ได้จัดทำโครงการพัฒนาบึงสีไฟ
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยพัฒนาบึงสีไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนล่าง มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ปลูกต้นไม้ และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่
บึงสีไฟ ให้สวยงามสะอาดตามาอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งยังพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสนามแข่งขันจักรยานระดับนานาชาติ
/ประกอบด้วย …
– ๔ –
ประกอบด้วย ทางจักรยานรอบบึงสีไฟ ความยาว ๑๐.๒๘ กิโลเมตร  สนามจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์  สนามจักรยาน
ขาไถสำหรับเด็กเล็ก และสนามปั๊มแทร็ก ซึ่งมีพื้นผิวสนามที่ใช้วัสดุตามมาตรฐานระดับนานาชาติของสหพันธ์
จักรยานสากล  เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียง ใช้เป็นสถานที่
ออกกำลังกาย ฝึกฝนทักษะทางกีฬา ทำให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง กับยกระดับจังหวัดให้เป็น
เมืองกีฬา (Sport City)  ได้ในอนาคต  ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” อันมีความหมายว่า สนามจักรยาน
เป็นสถานที่ทำให้ใจสำราญเป็นมงคลและสุขสบาย
ในวันเดียวกันนี้  เวลา ๑๔.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากวังสระปทุม ไปในงานปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖
โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  โรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง – ชาย โรงเรียนพระดาบส ศูนย์การศึกษา
นอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)  กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง โรงเรียนกาญจนาภิเษก
วิทยาลัยนครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม)  และโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อนึ่ง เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๗  เวลา ๐๘.๐๓  น.  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากวังสระปทุม
ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการ
ทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ ๓ ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง ประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาทรงงาน
ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลตรี นรธิป  โพยนอก ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๓ และพันโท เศรษฐสิทธิ์  พวงบานเย็น ผู้บังคับกองพันทหารราบ
ที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๓ กราบบังคมทูลรายงานภาพรวมการดำเนินโครงการทหารพันธุ์ดี ซึ่งเป็นโครงการที่
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการบนพื้นที่กว่า ๑๔๒ ไร่ จัดตั้งโครงการต่าง ๆ
ให้ผู้ที่สนใจด้านการเกษตรได้เรียนรู้ และนำไปขยายผลสู่ชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์  ในการนี้ ทอดพระเนตรโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ที่ให้กำลังพลปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณบ้านพัก เพื่อให้มีผักปลอดสารพิษ
ไว้บริโภค และเป็นการลดรายจ่าย  จากนั้น ทอดพระเนตรโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ที่ปลูกไม้ผลในพื้นที่ ๒๕ ไร่ มีไม้ผล ๙ ชนิด ปัจจุบันได้ทำการขยายพันธุ์มะขามเทศพันธุ์สีชมพู และฝรั่ง รวมทั้งขยายผลสู่ชุมชน
เพื่อสร้างรายได้ และลดรายจ่ายในครัวเรือน  เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่ภาคอีสานเหนือตอนบน ทรงเปิดศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ 3 แห่ง พื้นที่ภาคอีสานเหนือตอนบน ได้แก่ ศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน”  ศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผ่านระบบออนไลน์ และศูนย์ผลิตพันธุ์กบพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผ่านระบบออนไลน์
ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชน และสนับสนุนหน่วยงานที่สนองงาน
ตามพระราชดำริ โดยมีประชาชนได้รับพันธุ์ปลาพระราชทานแล้ว จำนวน ๑,๐๓๕ คน  ในโอกาสนี้ ทรงปล่อย
พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลานิลจิตรลดา จำนวน ๙๙๙ ตัว ลงสู่สระน้ำของศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน ฯ
/เพื่อผลิต …
– ๕ –
เพื่อผลิตลูกปลานิลจิตรลดาพระราชทานแก่ประชาชนต่อไป โดยผลผลิตส่วนหนึ่ง นำไปแปรรูปเป็นน้ำพริกปลาร้า
ปลานิล และปลานิลแดดเดียว เพื่อนำไปจำหน่ายหน้าค่าย ฯ และตามงานเทศกาลต่าง ๆ  ส่วนศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน ฯ ดำเนินการบนพื้นที่ ๗ ไร่ มีโรงเรือนเลี้ยง ๙ โรงเรือน เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ปีก ๔ ชนิด
ได้แก่ เป็ดเทศกบินทร์บุรี  ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว  ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ  และทดลองเลี้ยงไก่งวงพันธุ์อเมริกันบรอนซ์ และพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์  การนี้ พระราชทานพันธุ์ไก่เหลืองหางขาว จำนวน ๒๑๒ ตัว และอุปกรณ์ในการผลิตพันธุ์ไก่แก่ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓  พระราชทานพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่งวงพันธุ์อเมริกันบรอนช์
และพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ จำนวน ๘ ตัว แก่ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๓
พระราชทานพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบนานครนายก จำนวน ๔๐ ตัว แก่ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑๓ พระราชทานไก่ประดู่หางดำ และเป็ดเทศกบินทร์บุรีแก่ตัวแทนเกษตรกร เพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ต่อไป โดยศูนย์ผลิตพันธุ์กบพระราชทาน ฯ เลี้ยงกบ ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์จานนา
สายพันธุ์นาน่าน และสายพันธุ์ทุ่งกุลา บนพื้นที่ ๑.๕ ไร่ มีโรงเรือน ๔ โรงเรือน ที่ผ่านมามีประชาชนได้รับพันธุ์กบพระราชทาน ทั้ง ๓ สายพันธุ์แล้ว จำนวน ๑๑,๒๖๐ ตัว  ในโอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อเป็นขวัญ
และกำลังใจแก่กำลังพลและผู้ปฏิบัติงาน สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร