พระราชพิธีขึ้นปีใหม่

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนพุทธศักราช ๒๔๓๑

      ประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงตอนต้น รัชกาลที่ ๕ (พุทธศักราช ๒๔๑๑ ถึงพุทธศักราช ๒๔๓๑) ถือวันทางจันทรคติ คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า “…พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริว่า ในกฎมนเทียรบาลมีการสมโภชและเลี้ยงลูกขุน ซึ่งตรงกับการเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง จึงทรงกำหนดการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้น เวลาเช้า มีการสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำ เชิญพระสยามเทวาธิราชและเชิญเจว็ดรูปพระภูมิเจ้าที่จากหอแก้ว (ศาลพระภูมิในพระบรมมหาราชวัง) ออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เจ้าพนักงานตั้งเครื่องสังเวยที่ศาลาหน้ามุขเด็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ ณ ศาลาคด และโปรดให้มีละครหลวงแสดงและโปรดให้ตั้งโต๊ะพระราชทานเลี้ยงแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร…”

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒)

      พุทธศักราช ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันทางจันทรคติเป็นวันทางสุริยคติ โดยให้ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัตนโกสินทรศกในการนับปีแทนจุลศักราชตั้งแต่รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ (พุทธศักราช ๒๔๓๒) เป็นต้นมา (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖ รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ หน้า ๕) ส่วนการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาคด หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประทับทอดพระเนตรละครหลวง แล้วเสด็จขึ้น

     ส่วนวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ที่ได้ทำมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดเป็นพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ซึ่งได้ปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ – ๗

          ในรัชกาลที่ ๖  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศกตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๙ รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ หน้า ๒๖๔ – ๒๖๙)  ต่อมา พุทธศักราช ๒๔๕๖ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่า พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๓ พุทธศักราช ๒๔๕๖ หน้า ๔๘๗ – ๔๙๐) มีรายละเอียดการพระราชพิธีแต่ละวัน ดังนี้

          วันที่ ๒๘ มีนาคม ตั้งน้ำวงด้าย มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสวดภาณวารในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

          วันที่ ๒๙ มีนาคม เลี้ยงพระ  อ่านประกาศสังเวยเทวดา  สวดอาฏานาฏิยสูตร  ยิงปืนมหาฤกษ์ ปืนมหาชัย ปืนมหาจักร และปืนมหาปราบยุค

          วันที่ ๓๐ มีนาคม พระราชทานน้ำพระมหาสังข์กับทรงเจิมแก่พระราชวงศ์
          วันที่ ๓๑ มีนาคม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
          วันที่ ๑ เมษายน เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิ
          ณ หอพระธาตุมณเฑียร เลี้ยงพระสงฆ์ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสรงพระมุรธาภิเษก ที่ชานหน้าพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส (พระที่นั่งราชฤดีในปัจจุบัน) ทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถ้ามีพระราชวงศ์เจริญพระชันษาถึงเกณฑ์ที่จะโสกันต์เกศากันต์ก็จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการพระราชพิธีโสกันต์เกศากันต์ในพระราชพิธีนี้ด้วย ในเวลาบ่าย มีงานอุทยานสโมสร กระทรวงวังจัดสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทรงลงพระนามและจัดสถานที่สำหรับข้าราชการลงนามถวายพระพรชัยมงคล

          วันที่ ๒ เมษายน พิธีเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอพระราชพงศานุสร หอพระราชกรมานุสรพระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระคันธารราษฎร์ และวิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ ที่หvพระนาก เวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

          วันที่ ๓ เมษายน พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  จากนั้น  เสด็จไปและไปถวายบังคมพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่หน้าพระที่นั่งสนามจันทร์ ในกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ทรงบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๘ ณ สนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๘

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๘ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๘
ณ สนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๘

          คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ แผนกกฤษฎีกา ภาค ๑ – ๒ พุทธศักราช ๒๔๘๔ หน้า ๓๑ – ๓๓) เพราะวันที่ ๑ มกราคม ใกล้กับวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี สอดคล้องกับจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระพุทธศาสนา และตรงกับวันขึ้นปีใหม่ของนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นต้นไป จึงได้กำหนดการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ ดังนี้

          วันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

          วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  ประเคนภัตตาหารแก่พระสงฆ์  พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้วทอดผ้าคู่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช  พระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์และวันนี้ตั้งแต่เวลา ๑๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๖ นาฬิกา มีการลงนามถวายพระพรชัยมงคล ที่ในพระบรมมหาราชวัง

          อนึ่ง วันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ และวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลาเช้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นิมนต์พระสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาต ในพระบรมมหาราชวัง วันละ ๑๕๐ รูป 

          วันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๑๗ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำปูชนียวัตถุในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปยังหอพระนาก จุดธูปเทียนถวายราชสักการะและทอดผ้าคู่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้าพระอัฐิกรมพระราชวังบวรและพระราชวงศ์ พระสงฆ์สดับปกรณ์

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๙

         พุทธศักราช ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ไปไว้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามโบราณราชประเพณีเป็นเทศกาลสงกรานต์ กำหนดในวันที่ ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ เมษายน

          ต่อมา พุทธศักราช ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๐ ดังนี้

          วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาที่พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

          เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จออกสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียน เครื่องทองน้อย แล้วทรงบาตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม  เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจัดพระสงฆ์เข้ารับบิณฑบาตเป็นสาย พระสงฆ์สายที่เข้ารับบิณฑบาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ มีจำนวน ๕๐ รูป นอกนั้น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจัดพระสงฆ์เข้ารับบิณฑบาตสายละ ๒๕ รูป รวมพระสงฆ์ทั้งหมด จำนวน ๓๐๐ รูป เสร็จแล้ว  เสด็จขึ้น  มีเจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ปี่พาทย์ ตั้งแต่ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยจนกระทั่งทรงบาตรเสร็จ เสด็จขึ้น

          เวลา ๙ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังจัดสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทรงลงพระนามถวายพระพรชัยมงคล และสถานที่สำหรับคณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ข้าราชการ และประชาชนลงนามถวายพระพรชัยมงคลในพระบรมมหาราชวัง  กำหนดแต่งกายเครื่องแบบปกติขาว

          พุทธศักราช ๒๕๐๒  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ จากวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคมซึ่งเป็นวันสิ้นปี ส่วนวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวังจัดสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทรงลงพระนามถวายพระพรชัยมงคล และจัดสถานที่สำหรับคณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ข้าราชการ และประชาชน ลงนามถวายพระพรชัยมงคลในพระบรมมหาราชวัง 

          นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ณ พระราชฐานที่ประทับ  เป็นการส่วนพระองค์

          ส่วนการลงพระนามและลงนามถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่  สำนักพระราชวังได้คงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นางสาวเพลินพิศ กำราญ เรียบเรียง